ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.19 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์

0
486

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวที่แตกต่างของหุ้นแต่ละกลุ่ม โดยหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นแรง (Exxon Mobil +5.9%, Chevron +4.2%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Tesla -6.2%, Amazon -0.85%) เผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลว่า หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ยาก จนทำให้เฟดยังสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ หรือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดเริ่มให้โอกาส 55% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.25% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม) การเคลื่อนไหวที่สวนทางกันของหุ้นกลุ่มดังกล่าวได้ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.37% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลง -0.27%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อลงเล็กน้อย -0.03% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลว่า การปรับตัวขึ้นแรงของราคาพลังงานอาจยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงยากขึ้น หรือ อาจเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้กดดันให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เผชิญแรงขายทำกำไร (ASML -1.2%, Kering -1.1%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +5.9%, BP +4.3%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกังวลว่า การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า และอาจกดดันให้บรรดาธนาคารหลักเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ซึ่งได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ในหลายประเทศ) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.55% แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนมีนาคม ที่ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร ก็พลิกกลับมาทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.41% ทั้งนี้ เราคงมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดูดีอยู่ และหากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงสะท้อนภาพการจ้างงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (Buy on Dip)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ลง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (โดยเฉพาะฝั่งตลาดเอเชีย) นอกจากนี้ รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ได้กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเช่นกัน ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและเงินดอลลาร์ สามารถช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) เพื่อประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ว่าจะยังคงตึงตัวมากขนาดไหน โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ยอดตำแหน่งงานเปิดรับอาจลดลงบ้าง สู่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของหลายบริษัท โดยเฉพาะฝั่งบริษัทกลุ่มเทคฯ อย่างไรก็ดี ยอดดังกล่าวก็อาจสูงกว่ายอดผู้ว่างงานทั้งหมดเกือบ 1.8 เท่า สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงตึงตัวอยู่พอสมควร

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.60% เพื่อรอประเมินผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น ตามการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ

เราประเมินว่า ในระหว่างวันนี้ ค่าเงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้างจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้น หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (นักลงทุนต่างชาติได้กลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิกว่า +1.3 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า) นอกจากนี้ โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ก็อาจพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับหรือ Job Openings ของสหรัฐฯ (รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ) เพราะหาก ข้อมูลการจ้างงานไม่ได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานชะลอตัวลงแรง หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสรีบาวด์แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์