ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.44 บาทต่อดอลลาร์

0
558

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) จะมีมติขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 5.25% และไม่ได้มองว่าเฟดจะจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้า (เฟดหยุดการขึ้นดอกเบี้ยที่ 5.00% ก่อนจะทยอยลดดอกเบี้ยลงแตะระดับ 4.25% ปลายปี) ได้กดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อีกครั้ง กอปรกับ ผู้เล่นในตลาดยังคงสับสนต่อท่าทีของทางการสหรัฐฯ ในการคุ้มครองเงินฝาก 100% ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมาเผชิญแรงขายต่อ (BofA -3.3%, JPM -2.6%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -1.65%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงแรง แต่ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.15% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรป ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมพอสมควร (Hermes +1.1%, Kering +0.7%) ท่ามกลางความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้เฟดจะส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าปัญหาในระบบธนาคารที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มการคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงของเฟด อาจยิ่งกดดันภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเพิ่มโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะกลับมาลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องหลังจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมได้ ซึ่งมุมมองดังกล่าว รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.45% ซึ่งเรามองว่า ตลาดอาจมีมุมมองเชิงลบที่มากเกินไป แต่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งเสี่ยงต่อการปรับมุมมอง (Repricing) หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวลดลง ในการทยอยขายทำกำไรบ้าง และรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อสะสม (อาจไม่ต้องรอให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทะลุระดับ 4.00%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.2 จุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดก็ยังคงมองว่า สุดท้ายเฟดจะต้องกลับมาทยอยลดดอกเบี้ยลง แม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแตะระดับ 5.25% ตามที่เฟดเคยคาดการณ์ไว้ในการประชุมเดือนธันวาคม ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 1,973 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ในฝั่งโซนเอเชีย ตลาดคาดว่า การชะลอตัวต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ และภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ธนาคารกลางไต้หวัน (CBC) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ต่อ ขณะที่ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 6.25% หลังอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงถึง 8.6%

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ของอังกฤษ ได้เร่งตัวขึ้นแตะระดับ 10.4% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.25% สู่ระดับ 4.25% (จากระดับปัจจุบันที่ 4.00%) ท่ามกลางความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารฝั่งยุโรปและแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษที่ชะลอลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อสูงก็ยังแก้ไขไม่สำเร็จ

และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง ซึ่งหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ตลาดเริ่มปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่เราคาด หากเกิดกรณีที่ เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยนคาดการณ์ดอกเบี้ย หรือ Dot Plot มากนัก ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทมาจากทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 34.10-34.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากปรับตัวแข็งค่าขึ้นแรงจากวันก่อนหน้า แต่มองว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนพอสมควร เพราะบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังไม่รีบกลับเข้าซื้อหุ้นไทย (แต่แรงขายเริ่มลดลงต่อเนื่องแล้ว) อย่างไรก็ดี แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าก็อาจถูกลดทอนด้วยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้

ส่วนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หาก BOE ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด และไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องที่ชัดเจน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ก็อาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงได้บ้าง และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งก็อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้บ้าง

ทว่า หาก BOE ขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ตามเดิม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง สวนทางกับสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อ กดดันให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideways หรืออ่อนค่าลงได้

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.30 บาท/ดอลลาร์