ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.32 บาทต่อดอลลาร์

0
479

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.30% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายความวิตกต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป ส่งผลให้ หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (Morgan Stanley +3.6%, BofA +3.0%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Alphabet +3.7%, Amazon +3.0%) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นที่ 5.25% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +4.5%, Chevron +3.1%) ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อของราคาน้ำมันดิบ

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวขึ้นกว่า +1.33% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มธนาคาร (UBS +12.1%, Santander +4.6%) หลังผู้เล่นในตลาดคลายความวิตกกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารยุโรป นอกจากนี้ การรีบาวด์ของราคาน้ำมันดิบ ยังได้ช่วยหนุนราคาหุ้นกลุ่มพลังงานเช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (BP +3.4%, TotalEnergies +2.5%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60% ซึ่งเรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ หากผลการประชุมเฟดวันพฤหัสฯ นี้ ชี้ว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังไม่จบ เนื่องจากเฟดต้องการที่จะคุมปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงให้สำเร็จเป็นหลัก ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในรอบนี้ อาจไม่ได้ไกลมากนักหรืออาจไม่สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 4.00% ได้ ซึ่งเราคงมุมมองเดิมมาโดยตลอดว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าซื้อสะสมได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่า เฟดจะกลับมา “ลด” ดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ (แตะระดับ 4.50% ณ สิ้นปีนี้ จากข้อมูล CME FedWatch Tool) มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ทำให้ ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 103.2 จุด ทั้งนี้ เรามองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ นี้ และมีโอกาสที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองทองคำ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) เผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง จนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,946 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ของอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ จะชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็อยู่ที่ระดับสูงถึง 9.8% ทำให้ BOE อาจตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง +0.25% (ตามที่ตลาดคาดการณ์) หรือ +0.50% ตามการประชุมครั้งก่อนๆ (จากระดับปัจจุบันที่ 4.00%)

ส่วนไฮไลท์ สำคัญที่ควรต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงราว 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ของเช้าวันพฤหัสฯ โดยเรามองว่า FOMC อาจตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% เพื่อย้ำจุดยืนในการแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อ (ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI ยังคงสูงกว่า 6%) ขณะที่ปัญหาสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้สภาวะทางการเงิน (Financial Condition) ของสหรัฐฯ ตึงตัวมากขึ้น ทำให้ความจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ลดลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองเพิ่มเติม คือ ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของเฟด รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย (Dot Plot) ใหม่ โดยเราประเมินว่า เฟดอาจไม่ได้ขยับประมาณการเศรษฐกิจมากนัก แต่มีความเป็นไปได้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่อาจมองว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับ 5.50% ในปีนี้ ซึ่งจะสูงขึ้นจากที่เคยมองไว้ที่ระดับ 5.25% ในการประชุมเดือนธันวาคม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในฝั่งภาคการบริการ มีแนวโน้มชะลอตัวลงช้า ส่วนปัญหาด้านสภาพคล่องของระบบธนาคารสหรัฐฯ ก็ไม่ได้น่ากังวลมากนัก เพราะทางการสหรัฐฯ และเฟด ก็ได้ออกมาตรการรับมือไว้แล้ว

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงก็ตาม ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นไทยต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ (แรงขายเริ่มชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า)

ส่วนในวันนี้ เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในช่วงก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ทว่า เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งต้องจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยเรามองว่า โซนราคาทองคำ 1,930-1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเป็นแนวรับที่ผู้เล่นในตลาดรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ เงินบาทก็ยังพอมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง (แนวรับอยู่ในโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์) โดยบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อาจทำให้เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideways นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็มีโอกาสทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นได้บ้าง แต่คงไม่สามารถคาดหวังแรงซื้อที่มากได้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติอาจรอจับตาผลการประชุมเฟดไปก่อน

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงที่ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเรามองว่า มีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงต่อของราคาทองคำ หากเฟดส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนแตะระดับไม่น้อยกว่า 5.50% ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาด และเฟดย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าจะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อสูงได้สำเร็จ โดยในกรณีนี้ เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

แต่หากผลการประชุมเฟดสะท้อนว่า เฟดเริ่มกังวลปัญหาในระบบธนาคารมากขึ้นจากการประชุมครั้งก่อนๆ ทำให้เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก (หรืออาจมีการปรับลดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในช่วงปี 2024-2025 ลงเล็กน้อยได้) เราประเมินว่า แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่ท่าทีของเฟดที่เปลี่ยนไป จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ และราคาทองคำก็มีโอกาสรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ทำให้ในกรณีนี้ เงินบาทอาจแข็งค่าลงทดสอบโซนแนวรับแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้

และในกรณีที่ เฟด “ไม่ขึ้น” ดอกเบี้ยตามคาด หรือ เซอร์ไพรส์ตลาด ด้วยการ “ลดดอกเบี้ยลง” เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าใกล้โซน 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นใกล้โซน 1,980-2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ ต้องรอจับตาว่า ตลาดจะตีความว่า การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด คือ การส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาที่น่ากังวลหรือไม่ ถ้าตลาดมองว่า การลดดอกเบี้ย อาจสะท้อนปัญหาที่น่ากังวล เราคาดว่า ตลาดอาจกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะลดทอนการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์