ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.52 บาทต่อดอลลาร์

0
557

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนให้ ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นแรง +1.65% หลังความกังวลต่อเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ เริ่มลดลง เนื่องจากยังไม่พบการปิดตัวเพิ่มเติมของธนาคารขนาดเล็ก-กลางในสหรัฐฯ จากปัญหาสภาพคล่อง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ชะลอลงสู่ระดับ 6.0% และ 5.5% ตามที่ตลาดคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% แต่การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนแตะระดับ 5.25% ยังมีความเป็นไปได้อยู่

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาพุ่งขึ้นราว +1.53% หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเสถียรภาพของระบบธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งหนุนให้หุ้นกลุ่มธนาคารรีบาวด์ขึ้น (UBS +3.6%, Intesa Sanpaolo +3.4%) นอกจากนี้ จากปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.25% ในสัปดาห์นี้ จากเดิมที่เคยประเมินว่า ECB จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็ช่วยหนุนให้หุ้นเทคฯ หรือ หุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นได้ (Adyen +3.8%, Hermes +2.6%, ASML +2.0%)

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกัน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ จะชะลอลง แต่โดยรวมก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการ สะท้อนว่า เฟดยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาดให้โอกาส 69% ที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.25%) มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.69% และมีโอกาสทยอยปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน 3.70%-3.80% ได้ไม่ยาก หากตลาดไม่ได้กลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรงจากความกังวลปัญหาเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า อาจมาจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง แต่แรงกดดันจากปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมือนที่ตลาดเคยกังวลได้ ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดและการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) เผชิญแรงขายทำกำไรต่อเนื่องและย่อตัวลง สู่ระดับ 1,906 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้างในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกุมภาพันธ์ และจะรอติดตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index:PPI) เพื่อช่วยในการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ หลังจากที่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ชะลอลงตามคาด แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดมาก

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ โดยตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังการเปิดประเทศ สะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่จะขยายตัวกว่า +3.4%y/y และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ก็จะขยายตัวราว +2.6%y/y สอดคล้องกับรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะยังคงติดตามเสถียรภาพของระบบธนาคารสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า จะมีธนาคารอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก-กลางที่จะประกาศปิดตัวลงจากปัญหาสภาพคล่องอีกหรือไม่

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า แม้เงินบาทจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าในช่วงตลาดรับรู้รายงานอัตราเงิน CPI สหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าสุดเกือบแตะระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ก็ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลง ทำให้โดยรวมเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าลงไปมาก

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ต่อเนื่อง จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ซึ่งในสัปดาห์นี้ ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในฝั่งจีน รวมถึง ผลการประชุมของ ECB นอกจากนี้ ควรจับตาแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะฟันด์โฟลว์ในฝั่งหุ้น ว่านักลงทุนต่างชาติจะชะลอการขายหุ้นไทย หรือ พลิกกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิได้หรือไม่ หลังจากที่วันก่อนหน้า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง พร้อมแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเกือบ -5 พันล้านบาท ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยมากขึ้น ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ หรืออาจช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.65 บาท/ดอลลาร์