ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.96 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์

0
559

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขายต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย) ของเฟด ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลง (Alphabet -2.1%, Apple -1.5%) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลงแรงของบรรดาหุ้นกลุ่มธนาคาร (Bank of America -6.2%, JPM -5.4%) หลังราคาหุ้น SVB Financial (ซึ่งเป็นธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้บริษัทกลุ่มเทคฯ) ดิ่งลงแรงเกือบ -80% (รวมช่วงการซื้อ ขาย After Hour) จากการรายงานผลประกอบการล่าสุดที่ย่ำแย่และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ทำให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงแรงกว่า -1.85%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.22% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จนกว่าจะรับรู้แนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) จากการประชุม ECB ในสัปดาห์หน้า และผู้เล่นในตลาดก็รอประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน และอัตราเงินเฟ้อ CPI

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้กลับมาช่วยหนุนให้ ผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือบอนด์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 4.00% ไปได้ไกล ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 3.90% ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจขายทำกำไรในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นยังไม่จบหรือทิศทางดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมอ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ซึ่งเรามองว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD (vs สกุลเงินอื่นๆ) หลังเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 105.3 จุด อย่างไรก็ดี เราคาดว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว Sideways และมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลาง ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้น กลับสู่โซนแนวต้านแถว 1,835 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls: NFP) โดยเรามองว่า หากยอด NFP ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ราว 2 แสนตำแหน่ง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ซึ่งถ้าหาก อัตราการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) ปรับตัวขึ้นสูงกว่าคาด (สูงกว่า +4.7%y/y หรือ สูงกว่า +0.3%m/m) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น หรือเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.75% ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ตลาดให้โอกาสเพียง 44%) ในกรณีดังกล่าว เราประเมินว่า มีโอกาสที่จะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในขณะที่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาจปรับตัวลงได้

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของผู้ว่าฯ Kuroda โดยเราประเมินว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมกับคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นที่ระดับ 0.00%+/-0.50% (ยังคงทำคิวอีต่อ) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า BOJ อาจเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและจะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ ในช่วงไตรมาสที่ 2

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

อนึ่ง เรามองว่า ในวันนี้ ค่าเงินบาท (รวมถึงเกือบทุกสินทรัพย์) มีความเสี่ยงที่จะผันผวนหนัก โดยเฉพาะในช่วงที่ ผู้เล่นในตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ (ราว 20.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งหากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและออกมาดีกว่าคาด เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้นราว 2.5 แสนตำแหน่ง หรือ 3.0 แสนตำแหน่ง พร้อมกับการเติบโตค่าจ้างที่เร่งตัวขึ้นกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ตลาดเชื่อมั่นว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ได้ในการประชุมเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี จาก CME FedWatch Tool จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย กว่า 62% ทำให้ หากข้อมูลตลาดแรงงานไม่ได้ดีกว่าคาดไปมากชัดเจน ก็อาจทำให้โอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ยทรงตัวใกล้ระดับเดิม ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ดังนั้น เราจึงประเมินว่า ในกรณีที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดีกว่าคาด (แต่ไม่มาก เหมือนกับในเดือนมกราคม) เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก และเงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบ แนวต้านแถว 35.25 บาทต่อดอลลาร์ แต่หาก ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดีกว่าคาด แบบ “เซอร์ไพรส์” เหมือนในเดือนมกราคม (NFP +5 แสนตำแหน่ง) เงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว และอาจอ่อนค่าต่อทดสอบ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ (เรามองโอกาสเกิดกรณีนี้ไม่มากนัก)

ในช่วงนี้ เรามองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.25 บาท/ดอลลาร์