ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
568

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ทำให้ดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนปิดตลาด +0.14% หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม ได้เพิ่มสูงขึ้น สู่ระดับเกือบ 80%

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.09% ตามการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่เผชิญแรงขายหนักในช่วงที่ผ่านมา (ASML +1.4%, Kering +0.7%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) จนเกือบแตะระดับ 4.00% ได้ในปีนี้

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ยังคงสนับสนุนแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด พร้อมกับเปิดโอกาสการเร่งขึ้นดอกเบี้ย (+50bps) ในการประชุมเดือนมีนาคม ทำให้ บอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุระดับ 5% ทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 16 ปี ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 3.98% ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น โดยอาจประเมิน Break-even yield (คิดจาก Current Yield/Duration) ในการช่วยประเมินจุดเข้าซื้อที่มีความเสี่ยงเหมาะสม อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ 4% ขึ้นไป ก็อาจมี Break-even yield > 40bps ซึ่งถือว่า เป็นระดับที่เผื่อโอกาสการปรับตัวขึ้นไปพอสมควร แต่ถ้าเป็นบอนด์ระยะสั้นอย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ปัจจุบัน อยู่ที่ 5% Break-even yield อาจสูงกว่า 200-250bps ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดพอสมควร

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัว โดยมีจังหวะที่อ่อนค่าลงในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะรีบาวด์กลับขึ้นมาที่ระดับเดิม หลังข้อมูลการจ้างงานเบื้องต้น ออกมาดีกว่าคาด โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 105.6 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ค่อนข้างผันผวน ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้าน ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก่อนจะพลิกกลับมาปรับตัวลงกลับสู่โซนแนวรับแถว 1,815-1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่ดีกว่าคาด

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims) ซึ่งตลาดประเมินว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงสดใส อาจทำให้ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากจากช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75% ต่อ หลัง BNM อาจมองว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้าอาจเพียงพอที่จะคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยที่ไม่กดดันการเติบโตเศรษฐกิจจนเกินไป

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มเข้าสู่โหมด Wait and See หรือ รอประเมินข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันศุกร์นี้ ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองอย่างชัดเจน ทำให้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงระยะสั้น โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นความต้องการซื้อเงินดอลลาร์จากบรรดาผู้เล่นในตลาดอยู่ อาทิ บรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติ ส่วนโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 32.25 บาทต่อดอลลาร์ (ถ้าอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็อาจอ่อนค่าต่อทดสอบ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้)

อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังมีทิศทางไม่แน่นอน แต่โดยรวม เราประเมินว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยได้เริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ ก่อนที่ตลาดจะเข้าสู่ช่วงไฮไลท์สำคัญในวันศุกร์ที่จะมีการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

ในช่วงนี้ จะเห็นได้ว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง (ค่าเงินบาทผันผวนในระดับ 9%-10% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมาที่ระดับ 5% เป็นอย่างมาก) ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.15 บาท/ดอลลาร์