นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.48% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.14% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ อาทิ Microsoft +3.1% ซึ่งจะคงได้แรงหนุนจากความหวังว่า Search Engine “Bing” ที่มีฟีเจอร์ AI ChatGPT อาจแย่งส่วนแบ่งการตลาดจาก Search Engine Google ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็มองว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันนี้ อาจชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่าที่ตลาดคาดหวัง (ตลาดมองจุดสูงสุดดอกเบี้ยเฟดแถว 5.25%-5.50%)
ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.90% หนุนโดยความหวังภาพเศรษฐกิจยูโรโซนอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ หลังล่าสุดคณะกรรมธิการยุโรป (EC) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจยูโรโซนดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเศรษฐกิจยุโรปเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เหลือเพียง 57% (Bloomberg Consensus) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideways ใกล้ระดับ 3.71% ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ตลาดก็อาจคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้ราว -10bps (ค่าเฉลี่ยในช่วงที่มีรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอมากกว่าคาด) ทว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI กลับไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือ ออกมาสูงกว่าคาด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นได้ไม่เกิน +10bps เนื่องจากตลาดได้ทยอยรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดไปพอสมควรแล้ว หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นได้แรง อาจต้องมีปัจจัยอื่นหนุนในวันเดียวกัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 103.3 จุด ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.073 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามภาพเศรษฐกิจยูโรโซนที่อาจไม่ได้แย่อย่างที่ตลาดเคยกังวล ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง แต่บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด และท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ต่างรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI กลับทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,865 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม โดยเราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงขยายตัวไม่น้อยกว่า +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (คิดเป็นระดับ 6.4% และ 5.6% เมื่อเทียบจากปีก่อน ตามลำดับ) ตามที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินไว้ ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ แม้จะชะลอตัวลง (ตามที่ประธานเฟดได้ระบุในการประชุมเฟดและในสัปดาห์ก่อนหน้า) แต่ก็อาจไม่ได้ชะลอเร็วนัก โดยเฉพาะหากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว หนุนให้อัตราเงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการ (Core Services ex. Shelter) ชะลอตัวช้า ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.25%-5.50% ซึ่งตลาดมองไว้ล่าสุด ) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการปรับนโยบายการเงินเฟด หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมานั้นทยอยออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาด รวมถึงนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก จนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีนี้
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานข้อมูลการจ้างงานอังกฤษ ที่ตลาดประเมินว่า จะยังคงสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัว โดยหาก ค่าจ้างยังคงขยายตัวกว่า +6.5% ก็อาจสะท้อนว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษอาจชะลอตัวช้ากว่าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดหวัง ทำให้ BOE อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งยูโรโซน ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 4 อาจขยายตัวเพียง +1.9%y/y กดดันโดยภาวะเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี วิกฤตพลังงานที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่กังวล รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐในหลายประเทศก็ช่วยให้เศรษฐกิจยูโรโซนไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ก็พอช่วยหนุนให้เงินบาทสามารถเปิดตลาดเช้านี้แข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เราประเมินว่า เงินบาทอาจมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามบรรยากาศของตลาดการเงินที่พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกทั้งในช่วงแรกราว 14.00 น. จนถึง 17.00 น. รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของอังกฤษและยูโรโซน ก็อาจออกมาสดใสและช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยแกว่งตัว sideways ซึ่งก็อาจพอช่วยหนุนเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากได้
นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่รีบปรับสถานะการถือครอง ก่อนจะรับรู้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทำให้ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินจะกลับมาผันผวนสูงในช่วงราว 20.30 น. ที่ตลาดจะทยอยรับรู้ข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเรามองว่า หากตลาดจะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ อาจต้องเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้นไม่ถึง +0.3%m/m พร้อมกับ สัญญาณการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมที่พักอาศัย (Core Services ex. Shelter) ซึ่งในกรณีนี้ เงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าลงต่อเนื่อง และเราอาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ได้ อย่างไรก็ดี หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI เพิ่มขึ้นมากกว่า +0.4%m/m ตามที่ตลาดประเมินไว้ และหรือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนภาคการบริการที่ไม่รวมที่พักอาศัย กลับไม่ได้ส่งสัญญาณชะลอลง เรามองว่า ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อ และเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้
อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.95 บาท/ดอลลาร์