ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง​ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์

0
1472

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนักและบรรยากาศของตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว สะท้อนผ่านการย่อตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงท้ายของการซื้อ ขาย อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ยังพอได้รับแรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด โดยในจำนวนบริษัทจดทะเบียนบนดัชนี S&P500 ราว 30% ที่มีได้ประกาศผลประกอบการนั้น 80% ของบรรดาบริษัทดังกล่าวรายงานผลกำไรดีกว่าคาด (สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่มักจะมีเพียง 66% ของบริษัทที่ประกาศผลกำไรดีกว่าคาด) ซึ่งล่าสุด Microsoft +4.8% และ Visa +6.5% ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ประกาศงบการเงินดีกว่าและยังมีการปรับประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ อาทิ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ความไม่แน่นอนของสงคราม และความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ทำให้สุดท้ายดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.21%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมารีบาวด์ขึ้น +0.36% โดยได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่ออกมาดี นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศ อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Hermes +1.8%, Louis Vuitton +1.5% กลุ่มยานยนต์ Daimler +1.5% หลังเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงหนักจากความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากรัสเซียยุติการส่งออกพลังงานให้กับบรรดาประเทศฝั่งยุโรป หลังล่าสุด รัสเซียได้ระงับการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับบัลแกเรียและโปแลนด์ ทั้งนี้ เรามองว่า ความไม่แน่นอนของสงครามจะยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปสามารถพลิกกลับเป็นขาขึ้นชัดเจนอีกครั้งได้ยาก จึงยังคงแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน

ทางด้านตลาดบอนด์นั้น การรีบาวด์ของตลาดหุ้น และมุมมองของผู้เล่นในตลาดบอนด์ที่ยังกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด ได้ช่วยให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดีดตัวกลับขึ้นสู่ระดับ 2.83% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คงคาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัว sideways จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ หรือ ปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาด ณ ปัจจุบัน อย่าง ปัญหาสงครามและปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนจะคลี่คลาย จนผู้เล่นในตลาดเลิกกังวล

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง เงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 1.055 ดอลลาร์ต่อยูโร และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่อ่อนค่าแตะระดับ 1.253 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียระงับการส่งออกแก๊สธรรมชาติให้กับบรรดาประเทศในยุโรป เหมือนกับที่รัสเซียได้ยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้กับบัลแกเรียและโปแลนด์ ในขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงแตะระดับ 128.4 เยนต่อดอลลาร์ หลังส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นกว้างขึ้นอีกครั้ง อนึ่ง การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยังคงกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้และราคาทองคำกลับย่อตัวลงแตะระดับ 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เราคาดว่าผู้เล่นบางส่วนอาจต้องการถือทองคำเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีโอกาสแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าวไปก่อน นอกจากนี้โฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงนี้ได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยตลาดมองว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตลาดจะจับตามุมมองของ BOJ ต่อการอ่อนค่ารุนแรงของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมา จากความแตกต่างของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น โดยตลาดมองว่า BOJ อาจยังพอยอมรับได้กับการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งจะสะท้อนผ่านการเดินหน้าซื้อบอนด์ 10 ปี ญี่ปุ่นโดย BOJ เพื่อคุมกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่นให้อยู่ในช่วง 0.00%+/-0.25% ทำให้ในระยะสั้นมีโอกาสที่จะเห็นเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าทดสอบระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า ผลกระทบของสงครามและแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นจะกดดันให้ยอดการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคมจะโตลดลงเหลือ +0.5%m/m ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะขยายตัวในอัตราดีขึ้น +1.1%m/m จากอานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอน

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ในฝั่งสหรัฐฯ อย่าง Apple, Amazon, Twitter และ Intel โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงไม่ให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานรุนแรงไปมากกว่าเดิมได้ แต่รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดในครั้งนี้ อาจยังไม่สามารถช่วยให้ตลาดกลับมากล้าเปิดรับความเสี่ยงในระยะนี้ได้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงอยู่ ทั้ง บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน และโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผล รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้ เรามองว่า เงินบาทสามารถผันผวนและอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทสามารถถูกชะลอลงได้บ้าง จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเดินหน้าเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยอยู่ในสัปดาห์นี้ ทำให้ หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทย เงินบาทก็จะยังไม่ได้อ่อนค่าหนักในระยะนี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.45 บาท/ดอลลาร์

_________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย