ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.84 บาทต่อดอลลาร์

0
538

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ท่ามกลาง ความหวังแนวโน้มธนาคารกลางหลัก อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัท Meta (Facebook) ที่ออกมาดีกว่าคาด พร้อมทั้งประกาศแผนคุมต้นทุนและซื้อหุ้นคืน ยังได้หนุนให้ ราคาหุ้น Meta พุ่งขึ้นกว่า +23% สร้างอานิสงส์ให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้นแรง (Amazon +7.4%, Alphabet +7.3%, Apple +3.7%) ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นต่อเนื่อง +3.25% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.47% อย่างไรก็ดี บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าวต่างปรับตัวลง (Amazon -4.2%, Alphabet -3.7%, Apple -2.1%) ในช่วงหลังปิดทำการ ตามรายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาด

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง +1.35% หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% สู่ระดับ 2.50% และ 4.00% ตามลำดับ แต่ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ทั้ง ECB และ ECB อาจใกล้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม ซึ่งภาพดังกล่าว รวมถึงบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงในฝั่งสหรัฐฯ หนุนให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Adyen +13%, Kering +5.1%, ASML +4.5%

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะที่ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.35% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นแตะระดับ 3.39% หลังตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง แม้ว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า บรรดาธนาคารกลางหลักอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวเคลื่อนไหว sideways หรือย่อตัวลงบ้าง แต่เรามองว่า ควรระวัง รายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์นี้ เพราะหากข้อมูลการจ้างงานในฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเติบโตของค่าจ้าง ไม่ได้ชะลอลงตามคาด ก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดบอนด์กลับมาผันผวนได้ ทั้งนี้ แม้เรามีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในบอนด์ ทว่านักลงทุนก็ควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.7 จุด หลังสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์ (GBP) ต่างปรับตัวอ่อนค่าลง จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า ทั้ง ECB และ BOE อาจใกล้จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น อนึ่ง ควรรอจับตา รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ผันผวนได้ ทั้งนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลงแรงกว่า -40 ดอลลาร์ สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมในจังหวะย่อตัวใกล้โซนแนวรับ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านภาวะตลาดแรงงานล่าสุด โดยเราคงมองว่า ธีมหลักของตลาดการเงินอาจเป็น “Good/Upbeat Data = Bad News for Market” หรือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด อาจทำให้ตลาดกังวลว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า Terminal Rate 5.00% ที่ตลาดคาดหรือเฟดอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้น รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคมอาจเพิ่มขึ้นราว 185,000 ราย ทำให้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 3.6% ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและยังคงตึงตัวจะส่งผลให้ ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ย (Average Hourly Earnings) เพิ่มขึ้น +0.3%m/m หรือ +4.3%y/y

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน หลังจากผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง Amazon, Apple, Alphabet ต่างออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งหากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนโดยรวมแย่กว่าคาด ผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ อาจเริ่มขายทำกำไรหุ้นออกมาได้บ้าง หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปี

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงปิดตลาดวันก่อนหน้า คือ การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว แต่จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวใกล้โซนแนวต้านแรก แถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกบางส่วนก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวน sideways ใกล้โซนแนวต้าน 33.00 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมิน ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน

โดยเรามองว่า ควรระวังความผันผวนที่จะกลับมา หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ รวมถึ การเติบโตของค่าจ้างออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกังวลว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง อาจส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอลงช้ากว่าคาด และกดดันให้ เฟดจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญที่ประเมินไว้ได้

ทั้งนี้ เราคงเห็นผู้เล่นต่างชาติปรับมุมมองต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยขายทำกำไร Short USDTHB หรือบางส่วนอาจ เพิ่มสถานะ Long USDTHB ทำให้เราคงมองว่า เงินบาทอาจผ่านจุดแข็งค่าสุด (32.50 บาทต่อดอลลาร์) ไปแล้วในระยะสั้นนี้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.15 บาท/ดอลลาร์