นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ก่อนที่ดัชนี S&P500 จะสามารถปิดตลาด +1.05% โดยในช่วงแรกดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลง หลังจากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง ในช่วง Press Conference ของประธานเฟด หลัง ประธานเฟดได้ระบุว่า เริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ อีกทั้ง ประธานเฟดก็ไม่แสดงความกังวลต่อภาวะการเงิน (Financial Conditions) ที่ผ่อนคลายลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ ซึ่งท่าทีดังกล่าวของประธานเฟดได้หนุนให้บรรดาผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00% ก่อนที่จะลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 4.50% ได้ในช่วงปลายปีนี้
อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.03% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอประเมินผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ก่อนที่จะปรับสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารกลาง หลังเริ่มมีการประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าคาด (BBVA +4.7%, Intesa Sanpaolo +1.8%) อย่างไรก็ดี แนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์บางส่วนที่อาจแย่ลง ได้กดดันให้หุ้นใหญ่ในกลุ่มเฮลท์แคร์ต่างปรับตัวลง นำโดย Novartis -2.7%, Roche -2.2%
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว -10bps สู่ระดับ 3.42% (บอนด์ยีลด์ 2 ปี และ 5 ปี สหรัฐฯ ต่างก็ปรับตัวลงราว -10bps เช่นกัน) หลังตลาดตอบรับในเชิงบวกต่อถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ระบุว่า เงินเฟ้อเริ่มมีการชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับต่อถ้อยแถลงของประธานเฟดมากเกินไป เนื่องจาก เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง และมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงช้าได้ หากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ซึ่งทำให้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานในวันศุกร์นี้อาจส่งผลให้ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดบอนด์กลับมาผันผวนได้ ทั้งนี้ แม้เรามีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในบอนด์ ทว่านักลงทุนก็ควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงราว -1% สู่ระดับ 101 จุด หลังผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังการลดดอกเบี้ยลงของเฟดในช่วงปลายปี ตามแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวลง นอกจากนี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังหนุนให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูงในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันนี้ รวมถึงรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นกว่า +30 ดอลลาร์ จากช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด สู่ระดับ 1,969 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไร ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมของอีกสองธนาคารกลางหลัก ทั้ง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้นกว่าคาด หลังวิกฤตพลังงานไม่ได้รุนแรงอย่างที่เคยกังวล (สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนและอังกฤษยังอยู่ในระดับที่สูงมาก ทำให้ทั้ง ECB และ BOE ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.50% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ของ ECB ปรับขึ้นสู่ระดับ 2.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ของ BOE จะปรับขึ้นสู่ระดับที่สูงถึง 4.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตามุมมองของทั้ง ECB และ BOE ต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในอนาคต โดยเฉพาะในประเด็นอัตราการขึ้นดอกเบี้ย ว่าจะมีการชะลอลงหรือไม่ และ Terminal Rate จะอยู่ที่ระดับใด
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและผลการประชุมเฟดดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะรายงานผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง Amazon, Apple, Alphabet เป็นต้น ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินสามารถอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงและโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ยังคงเป็นปัจจัยที่หนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนต่อเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB และ BOE
โดยเรามองว่า หากผลการประชุมของ ECB และ BOE เป็นไปตามที่ตลาดคาด (ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง) อีกทั้ง ECB และ BOE ยังคงส่งสัญญาณที่ชัดเจนพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก็อาจเป็นปัจจัยที่หนุนให้ทั้งค่าเงินยูโร (EUR) และค่าเงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง แต่อาจไม่มากนัก เนื่องจากในเชิงเทคนิคัลทั้ง เงินยูโรและเงินปอนด์ได้ปรับตัวใกล้กรอบแนวต้านมากขึ้น ซึ่งการแข็งค่าขึ้นของทั้งเงินยูโรและเงินปอนด์ อาจกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้บ้างและช่วยให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์
แต่หาก ECB และ/หรือ BOE ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตามคาด ขณะที่ส่งสัญญาณกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น หรือ อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดอาจ “Sell on Fact” การแข็งค่าขึ้นของทั้งเงินยูโรและเงินปอนด์ในช่วงที่ผ่านมา กดดันให้ทั้งสองสกุลเงินอ่อนค่าลง และช่วยให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ทำให้เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัว sideways หรืออ่อนค่าเล็กน้อยกลับสู่โซน 32.85 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นผู้เล่นต่างชาติปรับมุมมองต่อค่าเงินบาทในระยะสั้น หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าทดสอบแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในการทยอยขายทำกำไร Short USDTHB และอาจเริ่มปรับมุมมองเป็นเงินบาทอาจอ่อนค่าลง (เพิ่มสถานะ Long USDTHB) ทำให้เราคงมองว่า เงินบาทอาจยังไม่หลุดแนวรับสำคัญได้ง่ายนักในระยะสั้นนี้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.55-32.85 บาท/ดอลลาร์