ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์

0
572

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 พุ่งขึ้นกว่า +1.46% ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากความมั่นใจของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่เฟดใช้ประเมินสัญญาณเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นเพียง +1.0%q/q ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนๆ สะท้อนแนวโน้มการชะลอลงตัวลงของค่าจ้าง ซึ่งแนวโน้มเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ยังได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +1.67%

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงย่อตัวลง -0.26% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงก่อนรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ Dior +0.9%, Kering +0.8% หลังรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการของจีนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับ 54.4 จุด ในเดือนมกราคม สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะดีขึ้นและส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าแบรนด์เนมได้

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอคอยผลการประชุมเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหว sideways ใกล้ระดับ 3.52% อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ไทย แนวโน้มธนาคารแห่งประเทศไทยพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว ทำให้ยีลด์เคิร์ฟ (Yields Curve) ในฝั่งไทยต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ได้ปรับขึ้นแตะระดับ 2.52% ส่วนบอนด์ยีลด์ 2 ปี ก็ปรับขึ้นสู่ระดับ 1.79% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนอาจรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในการทยอยเข้าซื้อสะสมได้ เพื่อเตรียมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวและการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในปีนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงสู่ระดับ 102 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และรายงานดัชนีต้นทุนการจ้างงานสหรัฐฯ ที่ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟด ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากแนวโน้มเฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นกว่า +20 ดอลลาร์ จากโซนแนวรับ สู่ระดับ 1,942 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรก่อนเข้าการประชุมเฟดได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) โดยตลาดมองว่า ความต้องการซื้อสินค้าที่ลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านระดับสินค้าคงคลัง (Inventories) ที่ยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงหดตัว โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคมจะอยู่ที่ระดับ 48 จุด (จาก 48.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ ตลาดจะรอประเมินภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลงได้

ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุมเฟด (รับรู้ในช่วง 02.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) เราคาดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงต่อเนื่องจะหนุนให้เฟดอาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง +0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% อย่างไรก็ดี แม้อัตราเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.00% พอสมควร อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อจากภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง (เราคงมองว่าจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Terminal Rate ในครั้งนี้ จะอยู่ที่ระดับ 5.25%) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและผลการประชุมเฟดดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินสามารถอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้น เห็นได้ชัดว่ามาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอผลการประชุมเฟด ทำให้ ต้องระวังความผันผวนต่อเงินบาท ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด

โดยเรามองว่า หากผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่เราคาด คือ เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% ตามที่ตลาดคาด แต่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อ ในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก กลับกันเราอาจเห็น แรงขายทำกำไรสถานะ Short USD vs สกุลเงินอื่นๆ (มองเงินดอลลาร์อ่อน) ส่งผลให้เงินดอลลาร์อาจรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าต่อไปมากนัก และต้องรอจับตาการเคลื่อนไหวของราคาทองคำว่าจะปรับตัวลงหรือไม่ (หากราคาทองคำย่อลงแรง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้)

แต่หาก เฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.25% และส่งสัญญาณอยากชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยให้ครบถ้วน เรามองว่า ในกรณีนี้ อาจเห็นตลาดเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่วนราคาทองคำก็อาจปรับตัวขึ้นได้บ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญ 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์

และในกรณีสุดท้าย หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงชัดเจน ซึ่งเราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมการย่อตัวลงของราคาทองคำ กดดันให้เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 33.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เรามองว่า กรณีนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.70-33.00 บาท/ดอลลาร์