นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้นและเลือกที่จะลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก รวมถึงรับรู้ผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน (กว่า 100 บริษัทในดัชนี S&P500 จะมีการประกาศผลประกอบการในสัปดาห์นี้) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงกว่า -1.30% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron -2.9%, Exxon Mobil -1.8%) ตามการปรับตัวลงหนักกว่า -2% ของราคาน้ำมันดิบ WTI สู่ระดับ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากทางการรัสเซียยังคงอนุญาตให้บรรดาบริษัทน้ำมันสามารถส่งออกน้ำมันในปริมาณและระดับราคาเท่าไหร่ก็ได้ หลังจากที่รัสเซียเผชิญมาตรการกำหนดเพดานราคาขายน้ำมันจากบรรดาชาติฝั่งตะวันตก
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปิดตลาด -0.17% โดยผู้เล่นในตลาดต่างลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งในฝั่งของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า ECB อาจขึ้นดอกเบี้ย +0.50% พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังอัตราเงินเฟ้อในฝั่งยุโรปยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 9%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวเหนือระดับ 102.2 จุด หลังผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ พร้อมลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักและผลการดำเนินงานของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว แต่ทองคำกลับไม่ใช้สินทรัพย์ที่ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือ เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา คือ แนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางราคาทองคำ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับแถว 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เราประเมินว่า การย่อตัวลงของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนเข้าไปซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฝั่งเอเชียจากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) โดยในฝั่งจีน ตลาดมองว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาด COVID จะช่วยหนุนให้ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีนฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคมที่ระดับ 49.9 จุด (จาก 47 จุด ในเดือนก่อนหน้า) และดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับ 51.5 จุด (จาก 41.6 จุด ในเดือนก่อนหน้า)
ส่วนในฝั่งไทย เราประเมินว่าภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย สอดคล้องกับการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของภาคการส่งออก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมกราคมอาจลดลงสู่ระดับ 51 จุด อย่างไรก็ดี ความหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน อาจช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ (Business Sentiment) ในเดือนมกราคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50 จุดได้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้บ้าง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทนั้นมาจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว นอกจากนี้ เรายังคงเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นและระยะยาวจากฝั่งนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุม กนง. ในสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้ เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แต่มีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก โดยโซนแนวต้านยังคงอยู่แถว 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางหลัก ทำให้เราอาจยังไม่เห็นการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี หากตลาดพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ในกรณีที่รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยให้เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.85 บาท/ดอลลาร์