นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ GDP ในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวถึง +2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี (ตลาดมอง +2.6%) ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 186,000 ราย และ 1.97 ล้านราย ตามลำดับ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดดังกล่าว ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น และกล้ากลับมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง ทำให้ดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +1.10%
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.42% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด (สวนทางกับสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลในวันก่อนหน้า) นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดก็ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงที่ชัดเจนต่อไป
ทางฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.50% อีกครั้ง หลังจากที่ปรับตัวลดลงแตะระดับ 3.43% ในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันนี้ ซึ่งหากรายงานเงินเฟ้อ PCE ออกมาชะลอลงต่อเนื่องตามคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดอาจไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงได้บ้าง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 101.8 จุด หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด รวมถึง การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวลดลงสู่โซนแนวรับแถว 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม คือ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ PCE ที่เฟดติดตาม โดยตลาดคาดว่า การปรับตัวลงของราคาพลังงานและโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เพื่อระบายสต็อกในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะกดดันให้ อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนธันวาคม ชะลอลงสู่ระดับ 5.0% อย่างไรก็ดี แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE อาจจะชะลอลงสู่ระดับ 4.4% ตามภาพการชะลอลงของเศรษฐกิจโดยรวม ทว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการบริการและไม่รวมค่าเช่าบ้าน Core PCE Services ex. Housing Rents อาจไม่ได้ชะลอลงไปมากนัก ทำให้เฟดอาจยังคงกังวลว่าเงินเฟ้อชะลอลงช้าและจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปีนี้
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การเคลื่อนไหวผันผวนในฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทนั้น มาจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (ราคาทองคำย่อตัวแตะโซนแนวรับในวันก่อนหน้า) ซึ่งเรามองว่า ในวันนี้ เงินบาทก็มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แต่ต้องระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงาน เงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
โดยหากรายงานเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงตามคาด ก็อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองที่เชื่อว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปมากนัก ทำให้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงไม่มาก หรือ เงินบาทคงไม่ได้แข็งค่าขึ้นแรง แต่ทว่า หากเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงตามคาด และกลับกันอาจเร่วขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เรามองว่า ตลาดอาจพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงได้เร็ว ส่งผลให้เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านได้
ทั้งนี้ เราคงมองโซนแนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ในช่วง 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับสำคัญยังคงเป็นช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.90 บาท/ดอลลาร์