ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์

0
547

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงตามคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดอาจจะลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยเหลือเพียง +0.25% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดให้โอกาสถึง 95% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง +0.25% และยังคาดการณ์ว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับแถว 5.00% ก่อนที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 4.50% ได้ในปลายปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.64% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.34%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.63% ตามการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth (ASML +1.1%, Adyen +1.1%) หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +1.4%, TotalEnergies +1.1%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่ล่าสุดได้แตะระดับ 78.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบ WTI และ ระดับ 83.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบเบรนท์

ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยิ่งคาดหวังให้ เฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวต่อเนื่องสู่ระดับ 3.45% อย่างไรก็ดี เรามองว่า แม้พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและนโยบายการเงินที่ตึงตัวของบรรดาธนาคารกลางหลักอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุด แต่ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงของไทย ได้ปรับตัวลงมาพอสมควรนับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นบ้างในการทยอยเข้าซื้อสะสม มากกว่าการไล่ราคาซื้อ ในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อล่าสุดได้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 102.3 จุด ส่วนบรรดาสกุลเงินหลักต่างก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อาทิ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.086 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแถว 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า และมองว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดนมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจ คือ รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) โดยหากคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจในมุมมองที่เชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯจะชะลอตัวลงได้จริงและจะทำให้เฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น มาจากปัจจัยหลักทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งสำหรับในวันนี้ ในภาวะตลาดเปิดรับความเสี่ยง เราประเมินว่า เงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง โดยมีโอกาสที่ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 33 บาทต่อดอลลาร์ (หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า) ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นแรงจนหลุดแนวรับสำคัญ เนื่องจากเราเริ่มเห็นสัญญาณการขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ของผู้เล่นต่างชาติมากขึ้น นอกจากนี้ เราประเมินว่า บรรดาผู้ส่งออกอาจไม่ได้รีบเข้ามาขายเงินดอลลาร์ เพราะส่วนใหญ่อาจรอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง อาทิ อ่อนค่าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์