ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์

0
549

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง เนื่องจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนก่อนหน้าไม่ได้มีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ชัดเจน (เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงความเป็นอิสระจากการเมืองของธนาคารกลาง) ทำให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพื่อรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันพฤหัสฯ (ตลาดประเมินว่าเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อเนื่อง) หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.01% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.70%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.59% ตามแรงขายทำกำไรของบรรดาผู้เล่นในตลาด หลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) Isabel Schnabel ยังคงออกมาส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ซึ่งท่าทีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ ECB ได้กดดันให้หุ้นกลุ่มเทคฯและหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างย่อตัวลงบ้าง อาทิ Adyen -1.0%, ASML -0.7%

ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ระยะยาวโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นตามภาพตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงมุมมองของเจ้าหน้าที่ ECB ที่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในส่วนถ้อยแถลงของประธานเฟดจะไม่มีการกล่าวถึงแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม โดยล่าสุดบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.60% ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอไฮไลท์สำคัญอย่าง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ทำให้ในระยะสั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 103.3 จุด ซึ่งเราประเมินว่า เงินดอลลาร์จะแกว่งตัว sideways หรืออาจอ่อนค่าลงได้เล็กน้อย หากตลาดเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟด จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะยังคงทรงตัว และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) กลับสามารถทรงตัวใกล้โซนแนวต้านแถวระดับ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเรามองว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำดังกล่าว ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยเข้ามาขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานในสหรัฐฯ ผ่านยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลัง รวมถึงยอดสต็อกน้ำมันกลั่นและเบนซิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ในระยะสั้น โดยหากยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังลดลงมากกว่าคาด (สะท้อนถึงความต้องการใช้ที่สูงกว่าคาด) ก็อาจช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบรีบาวด์ขึ้นมาได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันพฤหัสฯ เป็นหลัก ทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวมอาจมีลักษณะแกว่งตัวในกรอบ Sideways

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของบรรดานักลงทุนต่างชาติก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น โดยมีจังหวะแข็งค่าแตะระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ในวันก่อน ซึ่งเรามองว่า เงินบาทก็ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหว sideways ต่อในวันนี้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ โดยแนวรับสำคัญยังคงเป็นโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราเคยได้ประเมินไว้ ส่วนโซนแนวต้านสำคัญจะอยู่ 33.50-33.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องในช่วงนี้

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.60 บาท/ดอลลาร์