ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.59 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.65 บาทต่อดอลลาร์

0
531

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 225,000 ราย และ 1.71 ล้านราย ตามลำดับ สะท้อนการชะลอตัวลงของตลาดแรงงาน ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยหรือเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปมาก นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.82% ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth รีบาวด์ขึ้น หลังจากปรับตัวลงหนักในสัปดาห์นี้ อาทิ Nvidia +4.0%, Amazon +2.9%, Apple +2.8% ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.59% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.75%

ส่วนในทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็สามารถรีบาวด์ขึ้น +0.68% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาว เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ (ASML +3.0%, Adyen +2.4%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากการย่อตัวลงของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Anglo American -1.0%) ตามการปรับตัวลงของราคาโลหะพื้นฐาน อาทิ ทองแดง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 103.8 จุด ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด เราพบว่า สถานะถือครองเงินดอลลาร์ หรือ Net Long positions ของผู้เล่นในตลาดยังอยู่ในระดับต่ำหลายสัปดาห์ติดต่อกัน ซึ่งอาจสะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดไม่ได้มีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ หรือ มองว่าเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญได้มีการรายงานไปแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาแนวทางการรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในหลายประเทศ ทำให้บรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงิน โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย อาจไม่สามารถเปิดรับความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่นัก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าของเงินบาทในช่วงเมือคืนที่ผ่านมานั้น มาจากทั้งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งมีโอกาสที่เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากบรรยากาศในตลาดยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังคงเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดก็อาจรอจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ในการทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ ลดสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ลงบ้าง ทำให้ค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งค่าหลุด 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปมากนัก ทั้งนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงวันทำการสุดท้ายของปี เนื่องจากปริมาณธุรกรรมในตลาดอาจเบาบางลงไปมาก

อนึ่ง การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์