ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์

0
628

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI และเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI (ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน) ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาดสู่ระดับ 7.1% และ 6.0% ตามลำดับ ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไม่ไกลกว่าระดับ 5.00% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (จาก CME FedWatch Tool) โดยมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) และทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq กลับมาปรับตัวขึ้น +1.01% ส่วนดัชนี S&P500 ก็สามารถปิดตลาด +0.73%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.29% ตามบรรยากาศของตลาดการเงินที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง จากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมากกว่าคาด ซึ่งได้ส่งผลให้หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในฝั่งยุโรปต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ ASML +4.2%, Adyen +4.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +2.2%, Equinor +2.0%) หลังราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ของทางการจีน

ทางด้านตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างเชื่อว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ไม่เกิน 5.00% ไปมาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง ยังคงหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว -10bps ใกล้ระดับ 3.50% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (เช้าตรู่วันพฤหัสฯ นี้) และมองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ก็อาจเห็นบรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ (Buy on Dip) เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104 จุด (หลุดจากโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด อีกครั้ง) นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 1,822 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ของราคาทองคำใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 02.00 น. ของวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย โดยเรามองว่า แม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มชะลอลง แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่จะส่งผลให้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ในอัตราชะลอลง (+50bps จาก +75bps) สู่ระดับ 4.25%-4.50% และมีความเป็นไปได้ว่า ประธานเฟดรวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจแสดงความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับสูง (Core CPI ล่าสุด 6.0%) ซึ่งอาจสะท้อนผ่านมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่จะสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00% หรือ 5.25% (ค่ากลางของคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2023 อาจอยู่ที่ระดับ 4.875%) รวมถึงการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นสำหรับปี 2022 และ 2023 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจและอัตราว่างงานของเฟด โดยเราคาดว่า ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้น อาจทำให้เฟดพิจารณาปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2023 สู่ระดับต่ำกว่า +1.0% (vs. +1.2% ในคาดการณ์ ณ การประชุมเดือนกันยายน) พร้อมปรับเพิ่มอัตราการว่างงานสู่ระดับ 4.6% (vs. 4.4% ในคาดการณ์ครั้งก่อน)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเร็วในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอผลการประชุมเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ก่อนที่จะปรับสถานะการถือครองที่ชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในระหว่างวัน ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุมเฟดในช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสฯ เงินบาทก็อาจพอเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจยังคงเข้าซื้อบอนด์ไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เราประเมินว่า แนวรับสำคัญของเงินบาทอาจอยู่ในช่วง 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทออกมาบ้าง และเชื่อว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่จะยังไม่รีบปรับสถานะถือครองจนกว่าจะรับรู้ผลการประชุมเฟด ซึ่งเราประเมินว่า หากผลการประชุมเฟด คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่างสะท้อนความจำเป็นของการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนอาจแตะระดับสูงสุดที่มากกว่าระดับ 5.00% ที่ตลาดคาดการณ์ล่าสุด หรือมีความ “Hawkish” มากกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ส่งผลให้เราอาจเห็นเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งในกรณีดังกล่าวอาจเห็น การย่อตัวของราคาทองคำ และการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า เพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ หรือ เพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น)

การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์