นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงมากขึ้นและแย่กว่าคาด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.3 แสนราย รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานอย่างต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.67 ล้านราย ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ กลับมามั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปได้ไม่ไกลกว่าระดับ 5.00%-5.25% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยมุมมองดังกล่าวได้ช่วยให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อีกครั้ง และทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq กลับมาปรับตัวขึ้น +1.13% ส่วนดัชนี S&P500 ก็สามารถปิดตลาด +0.75%
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลงเล็กน้อย -0.17% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักชะลอตัวลงหนัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยุโรปเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมของธนาคารกลางหลัก อาทิ เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทำให้ผู้เล่นในตลาดยุโรปเลือกที่จะปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML +1.0%, Adyen +0.5%) หลังผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าในสัปดาห์หน้าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ (ขึ้นดอกเบี้ย +0.50% จากที่เคยขึ้นครั้งละ +0.75% ในการประชุมครั้งก่อนๆ) ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวบ้าง เพื่อรอลุ้นผลการประชุมของธนาคารกลางหลักในสัปดาห์หน้า ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +4bps สู่ระดับ 3.48% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเฟดเดือนธันวาคม (วันพฤหัสฯ หน้า) ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นได้ ก็อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นรุนแรง และไม่น่าจะเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไปสู่ระดับ 4.00% ทำให้ ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104.8 จุด (หลุดจากโซนแนวรับสำคัญที่ 105 จุด อีกครั้ง) ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อยใกล้โซนแนวต้านแถว 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำยังไม่สามารถผ่านโซนแนวต้านได้ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ของราคาทองคำใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะสะท้อนสถานการณ์เงินเฟ้อ อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึง คาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะสั้นและระยะยาว โดยในส่วนของ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) นั้นตลาดคาดว่า ความต้องการสินค้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึง ปัญหา Supply Chain ที่คลี่คลายลงไปมาก จะช่วยลดแรงกดดันต่อราคาสินค้าฝั่งผู้ผลิต โดย ดัชนี PPI อาจชะลอลงสู่ระดับ 7.2% จาก 8.0% ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่า แรงกดดันต่อเงินเฟ้อทั่วไปในส่วนราคาสินค้า (Goods Inflation) ก็มีแนวโน้มชะลอลง อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อในฝั่งการบริการ (Services Inflation) อาจยังคงอยู่ในระดับสูง หลังจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก และดัชนีราคาภาคการบริการก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 70 จุด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาวจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ซึ่งเรามองว่า ต้องระวังในกรณีที่ ดัชนี PPI ไม่ได้ชะลอลงตามคาด หรือเงินเฟ้อคาดการณ์กลับเร่งตัวขึ้น ก็อาจทำให้ตลาดพลิกกลับมากังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและกลับสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้
ส่วนในฝั่งจีน ภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาจะช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไปของจีน (CPI Inflation) จะชะลอลงสู่ระดับ 1.6% ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้ หากปราศจากแรงกดดันเงินเฟ้อ
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ในกรอบที่กว้าง (34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์) ตามที่เราได้ประเมินไว้ในต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดี หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงหรือแกว่งตัว sideways เงินบาทก็ยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองทั้งในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง บอนด์ รวมถึงสกุลเงินต่างๆ จนกว่าจะรับรู้ความชัดเจนของแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เรามองว่า ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนภาพเงินเฟ้อดังกล่าวไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น และอาจปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านแถว 105 จุด (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY) ทั้งนี้ เราคงมองว่า เงินบาทจะไม่ได้ผันผวนอ่อนค่าไปมากนัก โดยยังคงมองแนวต้านสำคัญในโซน 35.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยซื้อสุทธิบอนด์ไทย ทั้งบอนด์ระยะสั้นและบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ส่วนในฝั่งผู้ประกอบการ บรรดาผู้ส่งออกบางส่วนก็ต่างรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงใกล้โซนแนวต้านที่เราประเมินไว้
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.80 บาท/ดอลลาร์