นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ต่างคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นและเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ หลังประธานเฟด Jerome Powell ได้ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอัตราที่ชะลอลงเช่นเดียวกันกับบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อย่างไรก็ดี ประธานเฟดยังคงย้ำจุดยืนว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังห่างไกลจากจุดสูงสุด (Terminal Rate) ทั้งนี้ แนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า -17bps สู่ระดับ 3.62% หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้าซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Nvidia +8.2%, Meta +7.9%, Microsoft +6.2%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นแรงกว่า +4.41% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +3.09%
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.63% หนุนโดยความหวังว่าทางการจีนจะสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการประท้วง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างปรับตัวขึ้น (Dior +4.4%, Hermes +3.9%) นอกจากนี้ รายงานเงินเฟ้อยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนที่ชะลอลงสู่ระดับ 10% น้อยกว่าที่ตลาดคาด ยังช่วยหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ อีกครั้ง (Adyen +2.6%)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน แนวโน้มเฟดชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงสู่ระดับ 105.8 จุด นอกจากนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับ 1,788 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนพฤศจิกายน โดยตลาดคาดว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตจะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 49.8 จุด (ดัชนี น้อยกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตที่ซบเซาลง ท่ามกลางแรงกดดันจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก
ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า แรงกดดันจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาจะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยก็อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนพฤศจิกายน อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 51 จุด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศของตลาดการเงินที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ จะช่วยหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ และอาจยังมีแรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่สามารถกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท อาจเริ่มชะลอลงและต้องจับตาว่า เงินบาทจะสามารถแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องใกล้ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก หากปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลง ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาท เราประเมินว่า ช่วง 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์ อาจพอเป็นโซนแนวต้านได้ในระยะสั้น เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกยังคงไม่รีบขายเงินดอลลาร์และส่วนใหญ่อาจรอจังหวะให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง เพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์