ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.42 บาทต่อดอลลาร์

0
683

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะได้แรงหนุนจากความหวังว่า ทางการจีนอาจผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ได้เร็วกว่าคาด จากแรงกดดันของการประท้วงในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้หนุนให้ บรรดาหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้นแรง อาทิ Alibaba +9.1%, Pinduoduo +5.9% แต่ทว่าผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell (รับรู้ในช่วงเวลา 1.30 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) ว่าประธานเฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟดอย่างไร ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ ก่อนที่จะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด (Amazon -1.6%, Nvidia -1.2%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.59% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.16%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.13% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น และเลือกที่จะลดการถือครองหุ้นกลุ่มเทคฯ (Adyen -3.2%, ASML -1.2%) เพื่อรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด รวมถึงรายงานเงินเฟ้อของยูโรโซนที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้รับแรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor +4.0%, Total Energies +2.1%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากความหวังทางการจีนอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วกว่าคาด

ทางด้านตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.75% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟด นอกจากนี้ ในช่วงก่อนหน้า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและเจ้าหน้าที่เฟดบางท่าน อาทิ James Bullard ก็มองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้สูงกว่าระดับ 5.00%-5.25% ที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลต่อระดับจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) และเลือกที่จะขายทำกำไรหรือลดสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องพอสมควร (ปรับตัวลดลงราว -50bps ภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนจะรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดนั้น ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดและส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.8 จุด นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,748 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องใกล้โซนแนวรับ 1,730-1,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจส่งผลให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาด ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของประธานเฟด (รับรู้ในช่วงเช้าตรู่ 1.30 น. ของวันพฤหัสฯ) ว่า ประธานเฟดจะมีมุมมองอย่างไร โดยต้องระวังหากประธานเฟดส่งสัญญาณย้ำว่า เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกมาก เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ตลาดก็อาจกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ไม่ยาก

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะกดดันให้ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม หดตัวกว่า -1.8% จากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับแนวโน้มดัชนี PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนในฝั่งจีน บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Zero COVID ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการของจีนหดตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนพฤศจิกายน ที่จะลดลงสู่ระดับ 49.2 จุด และ 48 จุด ตามลำดับ

ทางด้านฝั่งไทย เรามองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ไม่ได้รุนแรงมากเช่นในฝั่งสหรัฐฯ หรือ ยุโรป จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย +0.25% สู่ระดับ 1.25% ทั้งนี้ เรามองว่า ควรติดตามคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้า รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ กนง. กังวล เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของไทย (ล่าสุด เรามองว่า กนง. จะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ถึงระดับ 2.00% ในกลางปีหน้า)

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนอาจชะลอลงสู่ระดับ 10.4% หลังแรงกดดันจากราคาสินค้าพลังงานและค่าไฟฟ้าเริ่มลดลง อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ยังอยู่ในระดับสูงถึง 5.0% ทำให้ตลาดยังคงมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ โดย อัตราดอกเบี้ยนโยบาย Deposit Facility Rate อาจปรับขึ้นใกล้ระดับ 3.00% ได้ในปีหน้า จากระดับล่าสุด 1.50%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาท (หลุดโซนรับแรกที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์) นั้นมาจากประเด็นความหวังของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า ทางการจีนจะสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ได้เร็วกว่าคาด แม้ว่า เงินดอลลาร์จะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น และราคาทองคำย่อตัวลงก็ตาม ซึ่งเรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อใกล้โซนแนวรับแถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากทางการจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตามที่ตลาดคาดหวัง แต่ต้องระวังความผันผวนที่อาจกลับมาและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ หากสุดท้ายทางการจีนไม่ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดอย่างที่ตลาดคาดหวัง

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทก็อาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ หากถ้อยแถลงของประธานเฟดเน้นย้ำจุดยืนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด จนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงกว่า 5.00%-5.25% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่าสุด อย่างไรก็ดี หากเงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลง เราประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าหนักมากจนทะลุ โซนแนวต้านแถว 35.90-36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ง่ายนัก เนื่องจากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย ทั้งหุ้นและบอนด์สุทธิอยู่ ส่วนผู้เล่นต่างชาติบางส่วนก็รอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้)

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.30-35.60 บาท/ดอลลาร์