นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างทยอยลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Apple -2.2%, Alphabet -1.9%, Amazon -1.8% ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.09% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.39% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil และ Chevron -1.0%) หลังราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ต่างปรับตัวลดลง ท่ามกลางความกังวลความต้องการใช้พลังงานที่อาจลดลง จากผลกระทบของการระบาด COVID-19 ในจีน รวมถึงแนวโน้มที่กลุ่ม OPEC+ อาจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิต
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.06% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Anglo American -2.3%, BP -3.8% ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นกลุ่ม Healthcare อย่าง Novartis +1.7%, Sanofi +1.3% สะท้อนมุมมองของผู้เล่นที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่แนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง จนอาจแตะระดับสูงกว่า 5.00% ที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน Sideways ใกล้ระดับ 3.83% ซึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามมุมมองของตลาดต่อจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายเฟด (Terminal Rate) ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนไม่ควรไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยีลด์ปรับตัวลดลง และควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนในพร้อมรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักในปีหน้า โดยจุดที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ การประชุมเฟดเดือนธันวาคม ซึ่งเฟดจะประกาศคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่หนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1007.8 จุด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลง ใกล้โซนแนวรับแถว 1,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้และช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมีมุมมองสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา หรือ มีมุมมอง “Hawkish” อาทิ James Bullard, Esther George และ Loretta Mester หลังจากที่ล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนการชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ยังคงมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดควรดำเนินต่อไป จนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทเริ่มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น (ซึ่งในขณะเดียวกันก็กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง) นอกจากนี้ ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ก็มีโอกาสกดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ในฝั่ง Emerging Markets เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินหยวนจีน
นอกจากนี้ เรามองว่า ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด สาย “Hawkish” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดกลุ่มดังกล่าว อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นได้ โดยต้องจับตาประเด็นสำคัญ ว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่ และเฟดจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยไปถึงจุดไหน (Terminal Rate) โดยมุมมองของตลาดต่อจุดสูงสุดของดอกเบี้ยเฟดจะมีผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยหากตลาดกลับมากังวลว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้สูงกว่า 5.00% ไปมาก เราอาจเห็นการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทย ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรการถือบอนด์ระยะยาวของไทยมากขึ้นและเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้าจะเร็วและแรงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ แต่แนวโน้มที่บรรดาผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์รวมถึงสกุลเงินต่างประเทศในจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้โซนแนวต้าน 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจพอช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง แต่หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว เราประเมินว่า แนวต้านสำคัญต่อไปจะอยู่ในช่วง 36.50 บาทต่อดอลลาร์
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความจำเป็นของการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.40 บาท/ดอลลาร์