นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า เฟดจะสามารถชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ไม่เกินระดับ 5.00% หลังจากที่รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน ตุลาคม เพิ่มขึ้น +0.2%m/m (หรือคิดเป็น +8.0%y/y) น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯนั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดมีการขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ อออกมาบ้างในช่วงท้ายของการซื้อขาย ท่ามกลางความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและล่าสุดมีรายงานว่าเมืองชายแดนของโปแลนด์ก็ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซียจนมีผู้เสียชีวิตเช่นกัน
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้น +0.37% หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤศจิกายน พุ่งขึ้นสู่ระดับ -36.7 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ -50 จุด (ทั้งนี้ ดัชนี ติดลบ หมายถึง มุมมองที่เป็นลบหรือขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) ซึ่งรายงานข้อมูลดังกล่าว ได้ช่วยให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ความหวังของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก รวมถึงความกังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะถือบอนด์ระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.78% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า นักลงทุนไม่ควรไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยีลด์ปรับตัวลดลง และควรรอจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนในพร้อมรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักในปีหน้า
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงแรกเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด หลังดัชนี PPI สหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทว่า ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจบานปลายและลุกลามไปยังประเทศสมาชิกนาโต้ อย่าง โปแลนด์ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.6 จุด (+0.3%) อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงสามารถปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวเหนือระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ทั้งนี้ เราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรออกมา และน่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าได้เช่นกัน
สำหรับวันนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม โดย ตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวราว +1.0% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวขึ้นได้ดี รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ (หากหักผลของยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ก็จะขยายตัวเพียง +0.2%) ทั้งนี้ การขยายตัวต่อเนื่องของยอดค้าปลีกจะสะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังดีอยู่ ทำให้เฟดยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง (แม้ว่าอัตราการขึ้นอาจชะลอลง) ซึ่งหากยอดค้าปลีกโตกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลประเด็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้งได้ (Good news is Bad news for the market) อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) หลังจากที่ล่าสุด รายงานดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้ง CPI และล่าสุด PPI ได้ชะลอตัวลงมากกว่าคาด
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ทว่า ปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มร้อนแรงขึ้น ก็อาจกดดันบรรยากาศในตลาดการเงิน และช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในระยะสั้นได้ นอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังจากที่ล่าสุด เราเริ่มเห็นสัญญาณขายทำกำไรทั้งหุ้นและบอนด์จากฝั่งนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเริ่มเป็นฝั่งขายสุทธิ ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ในระยะสั้น
ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ ทำให้เราประเมินว่า หากตลาดปิดรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นด้วยปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ หรือ รายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่อาจจะออกมาดีกว่าคาด แล้วทำให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นและกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่รุนแรงมากนัก หากยังมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำมาช่วยพยุงไว้ ซึ่งเราประเมินว่า แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับยังคงเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากหลุดระดับดังกล่าว แนวรับสำคัญถัดไป คือ 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเราประเมินว่าบรรดาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในโซนดังกล่าว
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ผันผวนสูงในช่วงที่ผ่าน ทำให้เราคงแนะนำ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.70 บาท/ดอลลาร์