ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.03 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
702

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.73% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.06% นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงแตะระดับ 217,000 ราย ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ก็ยังสะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวอยู่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยจนแตะจุดสูงสุด (Terminal Rate) ราว 5.25% (จาก CME FedWatch Tool)

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.93% กดดันโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ล่าสุดของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen -8.0%, ASML -4.0% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และอาจดำเนินต่อไปจนถึงช่วงกลางปี 2024

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.20% ตามแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก่อนที่จะพลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.15% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ระบุว่าเศรษฐกิจอังกฤษอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนาน ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ทดสอบระดับ 113 จุด อีกครั้ง หนุนโดยแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในจังหวะที่ตลาดอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) -0.7% สู่ระดับ 1.117 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากความกังวลเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ แม้ว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำจนแตะระดับโซนแนวรับ 1,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ก็สามารถพลิกกลับมารีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,632 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ซึ่งหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนยังทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวเพื่อถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนตุลาคมก็อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1.9-2.0 แสนราย ซึ่งจะสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราว่างงาน (Unemployment) สู่ระดับ 3.6% ทว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) จะยังอยู่ในระดับสูง +4.7%y/y แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง แต่ก็ยังสะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจากตลาดแรงงานนั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งภาพรวมของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว จะทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงที่ชัดเจนของทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯและเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งไทย เราคาดว่าระดับฐานราคาที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ 6.1% อนึ่ง ผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่จะหนุนราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีการปรับตัวขึ้นราว +0.7% จากเดือนก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ ท่าทีของทางการจีนที่ยังไม่ส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ก็อาจกดดันให้เงินหยวนของจีน (CNY) ผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งสามารถกระทบต่อภาพรวมของสกุลเงินในฝั่งเอเชียได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าเหนือโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางราคาทองคำ รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งโฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรงและราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลงหนัก เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักจากโซนแนวต้าน ส่วนในโซนแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.10 บาท/ดอลลาร์