ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.76 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.74 บาทต่อดอลลาร์

0
846

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการเปิดรับสมัครงาน (JOLTS Job Openings) ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 10.7 ล้านตำแหน่ง สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดที่มองว่าจะลดลงสู่ระดับ 9.85 ล้านตำแหน่ง สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและอาจทำให้เฟดไม่สามารถชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งความไม่แน่นอนว่าเฟดอาจจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงรายงานผลประกอบการแย่กว่าคาดของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มดังกล่าว นำโดย Amazon -5.5%, Alphabet -4.3% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.89% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.41% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +1.0%, Chevron +0.7%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า ทางการจีนอาจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในช่วงต้นปีหน้า

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.58% หนุนโดยความหวังว่าทางการจีนอาจผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในช่วงต้นปีหน้า ทำให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากจีนต่างปรับตัวขึ้น อาทิ Hermes +3.0%, Kering +2.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นพลังงาน (Total Energies +2.5%, BP +1.4%) เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.05% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้งยอดการเปิดรับสมัครงานและดัชนี PMI ภาคการผลิต ต่างออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะสามารถชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ หากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวอาจแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ในช่วงการแถลงต่อสื่อมวลชน (Press Conference) ของประธานเฟด หลังประกาศผลการประชุมเฟดเดือนพฤศจิกายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 111.5 จุด อีกครั้ง อนึ่ง แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่กล้าอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว แต่การพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) แกว่งตัวใกล้ระดับ 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินทิศทางดอกเบี้ยเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองทองคำที่ชัดเจนอีกครั้ง

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและเป็นไฮไลท์สำคัญ คือ การประชุม FOMC (ทราบผลการประชุมในช่วงเวลา 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) โดยเราคาดว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +75bps สู่ระดับ 4.00% ตามที่ตลาดได้คาดการณ์และรับรู้ไปมากแล้ว เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยรวมยังคงตึงตัวและแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยของเฟดจากถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วง Press Conference (เวลา 01.30 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) ซึ่งต้องระวังความผันผวนในตลาดการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น เพราะตลาดอาจปิดรับความเสี่ยง เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้น หากประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดอาจพิจารณาปรับลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป หรือไม่ได้ส่งสัญญาณว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างกังวลผลกระทบจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าเงินบาทจะปรับตัวแข็งค่ามากกว่าที่เราคาดในวันก่อนหน้า จากแรงหนุนของการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในวันก่อน รวมถึงความหวังการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในจีน, การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ซื้อหุ้นไทยสุทธิกว่า +6.1 พันล้านบาท ทว่า ปัจจัยหนุนเงินบาทอาจเริ่มลดลงได้ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ตามคาด หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวลงหนัก ซึ่งเรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจสูงขึ้นในช่วง Press Conference ของประธานเฟด (เราคาดว่า ตลาดไม่น่าจะตื่นเต้นกับผลการประชุมเฟดมากนักและตลาดรับรู้ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ไปมากแล้ว) หากประธานเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการชะลออัตราการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต หรือไม่ได้แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้เงินบาทอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
อนึ่ง การแข็งค่ามากกว่าคาดของเงินบาทในวันก่อนหน้า ทำให้โซนแนวรับของเงินบาทจะอยู่ที่ 37.60-37.70 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่โซนแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 38.20-38.30 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ หากตลาดผันผวนสูงขึ้นตามคาดในช่วง Press Conference ของประธานเฟด

ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.65-37.95 บาท/ดอลลาร์