ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 38.35 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.25 บาทต่อดอลลาร์

0
926

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ยังไม่สามารถช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่เริ่มมองว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาดการณ์ดอกเบี้ยหรือ Dot Plot หากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับสูงต่อ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 4.13% กดดันให้หุ้นที่อ่อนไหวต่อบอนด์ยีลด์ อย่าง หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลดลง อาทิ Amazon -1.1%, Microsoft -0.9% ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.85% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.67% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +3.2%, Exxon Mobil +3.0%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด สะท้อนภาวะตลาดน้ำมันที่อาจยังคงตึงตัวอยู่

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.53% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังรายงานเงินเฟ้อของยูโรโซนและอังกฤษล่าสุด ยังอยู่ในระดับสูงราว 10% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัท ASML ผู้ผลิตชิพฯ ชั้นนำ ที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ราคาหุ้น ASML +8.2% สวนทางกับการปรับตัวลดลงโดยรวมของหุ้นกลุ่มเทคฯ

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 113 จุด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทำให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงแตะระดับ 149.86 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงหลุดโซนแนวรับ ลงสู่ระดับ 1,632 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจยังคงเลือกที่จะเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) โดยตลาดประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3 แสนราย ซึ่งยังเป็นระดับที่สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ (แต่หากยอดดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 4 แสนราย ขึ้นไป จะสะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น)

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังเริ่มมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับที่อาจสูงกว่าคาดการณ์ดอกเบี้ยหรือ Dot Plot ล่าสุด ส่วนรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในความสนใจของตลาดและอาจช่วยพยุงไม่ให้ตลาดปรับตัวลงแรงได้ หากรายงานผลประกอบการโดยรวมออกมาดีกว่าคาด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาพตลาดที่กลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้ง จนอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญก่อนหน้าที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ต่อเนื่อง ก็อาจยิ่งกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยเผชิญแรงเทขายจากบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงไหลออกจากตลาดบอนด์ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันค่าเงินบาทในช่วงนี้ (ยอดขายบอนด์สุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาทนับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์)

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก็อาจทำให้เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้เช่นกัน ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทอาจยังคงอยู่โซน 38.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวอาจเห็นบรรดาผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนผู้เล่นในตลาดโดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีสถานะ short เงินบาทก็อาจทยอยขายทำกำไรสถานะ short เงินบาทในโซนดังกล่าวได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.25-38.45 บาท/ดอลลาร์