ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 33.64 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 12 เมษายน)

0
1236

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินยังคงปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า นอกเหนือจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจช่วยพยุงตลาดได้ หากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนก็อาจส่งผลต่อตลาดฝั่งเอเชียได้
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดมองว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากสงครามที่กดดันให้ราคาวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับปัญหา Supply Chain ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (S&P Global Manufacturing PMI) เดือนเมษายนที่จะลดลงสู่ระดับ 58 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว ) ส่วนภาคการบริการยังคงขยายตัวได้ดี หนุนโดยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและการระบาดของโอมิครอนที่ไม่ได้น่ากังวล ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) ที่ระดับ 58 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ IBM, Netflix, Tesla โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้บ้าง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Powell เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟด หลังล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรวมถึงเร่งลดงบดุล

ฝั่งยุโรป – สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงน่ากังวล หลังการเจรจาสันติภาพยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ และรัสเซียเดินหน้าบุกยึดพื้นที่ในฝั่งตะวันออกและทางตอนใต้ของยูเครน ทำให้สงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อและฝั่งตะวันตกอาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งต้องจับตาว่า ฝั่งยุโรปจะกล้าคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากสงครามได้กดดันให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอลง สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนเมษายนที่จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.7 จุด และ 55 จุด ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ ASML, SAP ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร และจะได้รับผลกระทบจากสงครามมากน้อยเพียงใด ซึ่งคาดว่าบรรดานักวิเคราะห์จะทยอยปรับประมาณการผลกำไรและเป้าราคาหุ้นหลังรับรู้ผลประกอบการล่าสุด ทำให้ตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงเงินยูโรมีแนวโน้มผันผวนได้ในช่วง Earnings Season

ฝั่งเอเชีย – ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวได้ราว 4.2%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทว่า ผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนในจีน จะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในเดือนมีนาคมและมีโอกาสกดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 หากการระบาดยังคงรุนแรงอยู่ ซึ่งตลาดประเมินว่า ยอดการผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะโตลดลงเหลือ +4.0%y/y ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจพลิกมา หดตัว -3.0%y/y จากผลของมาตรการ Zero COVID ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate) ประเภท 1 ปี ลงเหลือ 3.60% รวมถึง ปรับลด LPR ประเภท 5 ปี เหลือ 4.55% เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจและพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผลกระทบของสงครามจะกดดันให้ภาคการผลิตขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนเมษายนจะลดลงแตะระดับ 53 จุด อย่างไรก็ดี ภาคการบริการอาจขยายตัวในอัตราเร่ง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจพุ่งขึ้นสู่ระดับ 51 จุด แม้ว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) รวมถึง ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในสัปดาห์ก่อน ทว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.50% ไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ฝั่งไทย – เรามองว่า ควรจับตาแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 หลังวันหยุดยาว เพราะหากมีการระบาดที่รุนแรงหนัก ก็อาจกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลงในระยะสั้นได้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนในหุ้นไทยไปก่อน และทำให้เงินบาทยังคงขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนในช่วงนี้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมองเงินบาทแกว่งตัว “sideways” จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำอยู่บ้าง ทว่าแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจมาจากแรงขายสินทรัพย์ฝั่งเอเชีย หากข้อมูลเศรษฐกิจจีนแย่กว่าคาดมาก ทั้งนี้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจผันผวนตามสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในไทย ส่วนแนวต้านเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้ายังคงรอจังหวะ Buy on Dip ในช่วง 33.40 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจเริ่มจำกัด หลังตลาดต่างรับรู้แนวโน้มการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดไปมากแล้ว ทำให้เหลือเพียงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่พอช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยเงินดอลลาร์อาจเริ่มทรงตัว หากตลาดไม่ได้ปิดรับความเสี่ยงรุนแรง ซึ่งต้องรอลุ้นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน พร้อมกับจับตาสถานการณ์สงครามว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.30-33.80 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.75 บาท/ดอลลาร์

__________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย