ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์  “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.36 บาทต่อดอลลาร์

0
1036

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกครั้งและลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง กดดันให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง -1.02% หลังจากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างเน้นย้ำความจำเป็นในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดก็ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ระดับ 219,000 ราย ซึ่งภาพดังกล่าวส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 3.80% อีกครั้ง กดดันให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth ออกมากบ้าง (Tesla -1.1%, Microsoft -0.9%, Amazon -0.5%) ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (Exxon Mobil +3%, Chevron +1.8%) ตามราคาน้ำมันดิบ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่าตลาดน้ำมันจะยังคงเผชิญภาวะอุปทานตึงตัวจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องราว -0.64% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ภายใต้สถานการณ์ที่แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปก็ชะลอตัวลงมากขึ้น โดยล่าสุด ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน ในเดือนสิงหาคม หดตัวต่อเนื่องราว -0.3% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้คนที่ลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง การเร่งขึ้นดอกเบี้ยและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นราว +0.9% สู่ระดับ 112.2 จุด หนุนโดยท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ท่าทีระมัดระวังของผู้เล่นในตลาดยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวนในระยะนี้ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า ราคาทองคำอาจแกว่งตัว sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอประเมินภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินเฟด จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ก่อน

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลสำคัญของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน อาจสูงกว่า 2.6 แสนราย ทำให้อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ระดับ 3.7% ส่วนการเติบโตของรายได้ (Average Hourly Earnings) อาจสูงราว 5.1%y/y สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งและจะหนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตาม Dot Plot ล่าสุดของเฟด ซึ่งแปลว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1.25% ในปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกราว 0.25% ในปีหน้า

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งอาจยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้บ้าง (หรืออย่างน้อยแกว่งตัว sideways หลังจากปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง) กดดันให้ เงินบาทในวันนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งต้องจับตาทั้งทิศทางของราคาทองคำว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องหรือยังคงแกว่งตัว Sideways โดยหากราคาทองคำปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับ ก็อาจมีโฟลว์เข้าซื้อในจังหวะย่อตัว กดดันเงินบาทอ่อนค่าได้ ขณะเดียวกันทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา เพราะหากแรงขายสินทรัพย์ไทยยังมีต่อเนื่อง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ แต่เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย หลังราคาปรับตัวลงมาจนน่าสนใจ อีกทั้งแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมผลประกอบการของตลาดหุ้นไทยดูโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นเอเชียโดยรวม

อนึ่งเรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดอาจยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดไปมาก สะท้อนว่าเฟดอาจสามารถเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม Dot Plot ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว เราอาจเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 37.60-37.80 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่ แนวรับของเงินบาทได้ลดลงมาสู่ระดับ 37.10-37.20 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.25-37.55 บาท/ดอลลาร์