ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.08 บาทต่อดอลลาร์

0
886

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า “Bad news is Good news for the market” โดยผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.9 จุด (ดัชนีสู่กว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดและเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากผลกระทบของคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ยังได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 20bps สู่ระดับ 3.62% หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น นำโดย Microsoft +3.4%, Apple +3.1% ทำให้ดัชนี S&P500 รีบาวด์ขึ้นแรงกว่า +2.59% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +5.6%, Exxon Mobil +5.3%) ตามราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความหวังกลุ่ม OPEC+ อาจมีมติลดกำลังการผลิตลงไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันและการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นกว่า +0.77% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Equinor +3.4%, TotalEnergies +3.1% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ อาทิ ASML +1.8% ตามการทยอยปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรป อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันด้วยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในยุโรป

ในฝั่งตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยยอดฮิต อย่าง เงินดอลลาร์ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 111.6 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สู่ระดับ 1.13 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังรัฐบาลอังกฤษเตรียมปรับแผนงบประมาณใหม่ โดยอาจไม่มีการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้สูง ทำให้ตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการคลังของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน สู่ระดับ 1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เริ่มมีแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) โดยตลาดคาดว่า Job Openings อาจสูงกว่า 11 ล้านตำแหน่ง หรือเกือบ 2 เท่าของจำนวนผู้ว่างงาน สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวและอาจยังทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังในสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมามาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นเจ้าหน้าเฟดบางส่วนแสดงความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้มีโอกาสที่เฟดอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง อย่างไรก็ดี ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติว่าจะกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย อย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวทะลุโซนแนวต้านแถว 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างต่อเนื่อง เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรราคาทองคำก็อาจจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง (หรือชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท) ในระยะสั้นนี้

ในส่วนภาพเทคนิคัลนั้น จะเห็นได้ว่า กราฟเงินบาท Daily และ Weekly อาจเริ่มเห็นสัญญาณ Bearish Divergence กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้างหรือแกว่งตัว sideways ในระยะสั้นนี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า สภาพคล่องในตลาดที่เบาบางในช่วงนี้ ยังคงมีส่วนที่ทำให้ เงินบาทยังคงมีโอกาสผันผวนและแกว่งตัวในกรอบที่กว้าง โดยโซนแนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกอาจรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.20-38.30 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-38.00 บาท/ดอลลาร์