นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทำให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ยังคงปรับตัวลดลงราว -1.03% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron -2.6%, Exxon Mobil -2.1%) หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -2.2% จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.42% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนกันยายน ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 84.3 จุด แย่กว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 87 จุด สะท้อนมุมมองของภาคธุรกิจเยอรมนีที่มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3.91% ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นของบรรดาธนาคารกลางเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ รวมถึงเพื่อคุมลดแรงกดดันการอ่อนค่าของสกุลเงิน อย่างในฝั่งของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยและติดตามแนวโน้มค่าเงินปอนด์อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุด เงินปอนด์ได้อ่อนค่ารุนแรง ภายหลังรัฐบาลได้เปิดเผยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรปต่างปรับตัวสูงมากและส่งผลกระทบมายังบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน ทั้ง เราคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยิ่งทำให้การกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคตอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ จากผลกระทบของการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 114 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง และการอ่อนค่าลงรุนแรงของเงินปอนด์ (GBP) ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงทดสอบโซนแนวรับ 1,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวในโซนแนวรับ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกันยายน ที่อาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 104.3 จุด หนุนโดยการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bullard, Evans และ Mester) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังเฟดได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง เงินดอลลาร์ก็จะยังคงได้แรงหนุนต่อเนื่อง ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาน้ำมันดิบ และราคาทองคำ ก็อาจทำให้มีโฟลว์ธุรกรรม Buy on Dip น้ำมันดิบและทองคำ เข้ามากดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้ ทำให้เงินบาทอาจยังไม่สามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้นนี้ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน อาทิ ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้ และเริ่มเห็นฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากที่ดัชนี SET ได้ปรับตัวลดลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.75-38.00 บาท/ดอลลาร์