ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลง​ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.58 บาทต่อดอลลาร์

0
1224

ตลาดการเงินยังคงถูกกดดันโดยความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง โดยเฉพาะหุ้นสไตล์ Growth และ หุ้นกลุ่มเทคฯ ที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์เป็นพิเศษ ซึ่งแรงขายหุ้น Growth และ หุ้นเทคฯ ดังกล่าว กดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.18% ส่วน ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า -1.69% ขณะที่ดัชนี Dow Jones แม้ว่าจะไม่มีหุ้นเทคฯ มากนัก แต่ก็ปรับตัวลงกว่า -1.19% จากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ท่ามกลาง ความกังวลสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่อาจกดดันความต้องการใช้พลังงานระยะสั้น รวมถึง แนวโน้มการทยอยปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองของบรรดาประเทศพันธมิตรของสำนักงานพลังงานสากด หรือ IEA ที่ได้กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงและกดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตาม

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวลง -0.49% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นเทคฯ เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย Adyen -5.1%, ASML -3.0% ทั้งนี้ เราคงมองว่า ในระยะสั้น ตลาดหุ้นยุโรปยังคงความผันผวนจากความกังวลสถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปมากนัก ซึ่งนักลงทุนอาจพิจารณาชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อนได้

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งลดงบดุล (QT) ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.80% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2018 สอดคล้องกับมุมมองของเราที่มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ หลังตลาดกลับมารับรู้การเร่งลดงบดุลของเฟดในระยะถัดไปมากขึ้น อนึ่งการเคลื่อนไหวที่รุนแรงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ก็อาจจะมาจากการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาดด้วยเช่นกัน ทำให้หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ อาจเริ่มจำกัดลงได้ในช่วงนี้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 100 จุด หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแรงหนุนจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่จะเห็นได้ว่า ผู้เล่นในตลาดกลับเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มากกว่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เนื่องจากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นนั้นยังคงเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและเร่งลดงบดุลของเฟด ทำให้เงินเยน (JPY) อ่อนค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 125.2 เยนต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนในตลาดการเงิน ยังช่วยหนุนให้ ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ แม้ว่า ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ในเดือนมีนาคมที่อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.4% ตามภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่งและผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากภาวะสงคราม ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะหนุนโอกาสเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินเฟด หลังล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดต่างเริ่มออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรวมถึงเร่งลดงบดุล ซึ่งมุมมองดังกล่าวก็ได้กดดันให้ตลาดการเงินสหรัฐฯ ผันผวนหนักตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบ Sideways ต่อ โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ามาจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าขึ้นจากแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้น นอกจากนี้ ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในฝั่งหุ้นที่อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยในระยะสั้นได้ ขณะเดียวกันฟันด์โฟลว์ในฝั่งบอนด์ก็มีแรงขายสุทธิออกมาบ้าง หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อนึ่ง เรามองว่า โฟลว์ขายทำกำไรราคาทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นแตะแนวต้านสำคัญแถว 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก็อาจพอช่วยไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากได้

นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงโซน 33.70-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หากตลาดไม่ได้อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงไปมาก เงินบาทก็อาจไม่ได้เผชิญแรงกดดันจนอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ง่าย

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.55-33.75 บาท/ดอลลาร์

_____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย