ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์  “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.15 บาทต่อดอลลาร์

0
998

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เฟดได้เดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ตามคาด ทว่า คาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดหรือ Dot Plot ใหม่ ได้สะท้อนว่า เฟดยังคงมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแตะระดับ 4.40% ในปีนี้ และอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 4.60% ในปีหน้า พร้อมกับคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจนถึงปี 2024 เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้บ้างในปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวมากขึ้น หลังจากที่เฟดได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในสิ้นปีนี้เหลือ +0.2% (จากเดิม +1.7% ที่คาดการณ์ไว้ในการประชุมเดือนมิถุนายน) ซึ่งภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ นำโดย Amazon -3.0%, Apple -2.0% กดดันให้ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -1.71%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.90% แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น แต่ตลาดหุ้นยุโรปก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ หนุนโดยหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ตลาดหุ้นยุโรปมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและอาจปรับตัวลดลงในวันนี้ได้ ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความกังวลแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นอีกครั้งใกล้ระดับ 3.60% อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหลังรับรู้ผลการประชุมเฟด ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 3.53% จากความต้องการซื้อบอนด์ระยะยาวของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ใหม่ เราประเมินว่า ในระยะสั้นนี้ ตลาดการเงินเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงความเสี่ยงที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังคงต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 3.50% ต่อได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 20 ปี ใกล้ระดับ 111.5 จุด หลังเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (หลังจากพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด) อย่างไรก็ดี เรามองว่า ราคาทองคำอาจพอได้แรงหนุนจากผู้เล่นบางส่วนที่ต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้ราคาทองคำอาจพอยืนเหนือโซนแนวรับ แต่โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดไปแล้วนั้น ยังมีผลการประชุมของบรรดาธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 2.25% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี BOE อาจแสดงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ (GBP) อาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า BOJ อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมกับเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพื่อตรึงให้บอนด์ยีลด์ ไม่เกินกว่าระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ BOJ ยังไม่ได้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ เพราะแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคม แต่อัตราเงินเฟ้อเมื่อหักราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core Inflation) ก็อยู่ที่ระดับเพียง 1.5% ซึ่งยังไม่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.00% ของ BOJ ส่วนธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชียนั้น ตลาดมองว่า แนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศจะยังคงหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 4.25% ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจขึ้นดอกเบี้ยราว +0.25% สู่ระดับ 4.00%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่องตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งอาจเห็นแรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติในวันนี้ได้ นอกจากนี้ การย่อตัวของราคาทองคำรวมถึงราคาน้ำมันดิบ อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าซื้อทองคำและน้ำมันในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าเช่นกัน

นอกจากนี้ เรามองว่า ควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางหลัก ทั้ง BOJ และ BOE โดยในส่วนของ BOJ จะต้องรอติดตามว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการเข้ามาแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยนญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะในแง่นโยบายการเงิน เราคาดว่า BOJ จะยังคงไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน จนกว่าจะถึงไตรมาส 2 ในปีหน้าที่จะมีการเปลี่ยนผู้ว่าฯ BOJ ส่วนการประชุม BOE นั้น ต้องระวังมุมมองของ BOE ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ เพราะหาก BOE กังวลภาพเศรษฐกิจอังกฤษถดถอยมากยิ่งขึ้น ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 37.20 บาทต่อดอลลาร์ โซนแนวต้านถัดไปที่เป็นไปได้ของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.30-37.50 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.15-37.40 บาท/ดอลลาร์