นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องและอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง +1.00% ในการประชุมเดือนกันยายน (ตลาดมองโอกาสราว 18% ที่เฟดจะเร่งขึ้นถึง +1.00%) ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเดินหน้าลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มเทคฯ (Amazon -2.0%, Alphabet -1.9%) กดดันให้ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -1.13% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นราว +1.6% ของหุ้น Apple หลังนักวิเคราะห์มองว่า iPhone 14 Pro อาจช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค และช่วยหนุนผลประกอบการของ Apple
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.09% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างชัดเจนอีกครั้ง
ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจแตะระดับ 4.50%-4.75% ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ที่ระดับ 3.60% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อยและแกว่งตัวใกล้ระดับดังกล่าว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงรอประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟดจากคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดของเฟด (Dot Plot) ขณะที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า หากเฟดเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 110.2 จุด หนุนโดยความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับตลาดการเงินที่อาจผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หรือ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,674 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ราคาทองคำจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด ทว่าต้องระวังความผันผวนของราคาทองคำในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นจะรอติดตาม คือ ผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ (ทราบผลการประชุมในเวลา 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยเราคาดว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ในส่วนของคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดหรือ Dot Plot นั้น เฟดอาจไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (ตลาดมองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 4.50%-4.75%) โดยเราประเมินว่า Dot Plot ใหม่อาจสะท้อนว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.00%-4.25% ในปีนี้ ก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในปีหน้า และอาจลดลงสู่ระดับ 3.50% ในปี 2024 หลังเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางส่งสัญญาณชะลอลง อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมชะลอลงมากขึ้น ซึ่งเราคาดว่า เฟดอาจปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลงบ้าง พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราการว่างงานขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า รวมถึงปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์เศรษฐกิจในการประชุมเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจกดดันให้ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงรุนแรงได้ คือ เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงถึง +1.00% หรือ Dot Plot ใหม่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนจุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าระดับที่ตลาดคาด อาทิ 5.00% หรือ มากกว่านั้น ขณะที่ หากเฟดไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หรือ Dot Plot ใหม่ไม่ได้สะท้อนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงกว่าคาด เราประเมินว่า บรรยากาศในตลาดการเงินอาจพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและราคาสินทรัพย์เสี่ยงอาจมีการรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้ อาจเห็นการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ได้เช่นกัน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าตามทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน นอกจากนี้ การย่อตัวของราคาทองคำใกล้โซนแนวรับแถว 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์อาจทำให้มีผู้เล่นบางส่วนเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทได้
เราคาดว่า เงินบาทจะผันผวนสูงในช่วงก่อนและหลังตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบกว้างถึง 36.70-37.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าหนักแตะโซนแนวต้านดังกล่าวได้ หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหนัก ตามความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง (ในกรณีนี้ ราคาทองคำก็อาจปรับตัวลงหนักและคาดว่าจะมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อราคาทองคำในจังหวะย่อตัว เข้ามากดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้) ในขณะที่ หากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้รุนแรงกว่าตลาดคาด หรือ ไม่ได้เซอไพรส์ตลาด เราอาจเห็นการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งอาจช่วยหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าใกล้โซนแนวรับได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.90-37.10 บาท/ดอลลาร์