“ความเท่าเทียมในสังคม” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่นำหลักการนี้มาใช้บริหารบุคลากร เพื่อให้เกิดความเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นความคิด เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อ ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในองค์กรให้สำเร็จได้ คงไม่พ้นบุคลากร ตั้งแต่ผู้บริหารตลอดจนพนักงาน ที่ต้องเปิดกว้างและให้การยอมรับต่อความหลากหลาย (Diversity and Inclusion) เพราะพนักงานทุกคนถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญในการผลักดันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เจนเนอ ราลี่ ไทยแลนด์ กล่าวถึงความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในหลายปีที่ผ่านมา เจนเนอราลี่ ประเทศไทยนั้นมีการบูรณาการด้านความหลากหลายและส่งเสริมความเท่าเทียม ตั้งแต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในพนักงาน ตัวแทน จนถึงประโยชน์ด้านความคุ้มครองของลูกค้า ซึ่งจะเห็นได้จากที่เจนเนอราลี่เป็นเจ้าแรก ๆ ของตลาดประกันภัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2017 ที่ได้ปลดล็อก ข้อจำกัดของกรมธรรม์เพื่อตอบโจทย์ความคุ้มครองสำหรับกลุ่ม LGBTQI+ เพื่อให้ ’คู่ชีวิต’ เพศเดียวกันสามารถรับผลประโยชน์จากผู้เอาประกันภัยได้ โดยมีการสื่อสารผ่านแคมเปญ “GEN LOVE WINS เพราะความรักชนะทุกสิ่ง” และถือได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเจนเนอราลี่เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของกลุ่มคนทุกเพศ จึงเดินหน้าผลักดันให้เกิดเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรด้วยความเท่าเทียม โดยเริ่มจากผู้บริหารและพนักงานในการสร้างการตระหนักรู้ในวงกว้างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในทุกมิติ จะเห็นได้ชัดจากที่เจนเนอราลี่มีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ และมีบุคลากรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้หญิงเช่นกัน รวมถึงการเปิดรับพนักงานกลุ่ม LGBTQI+ อีกด้วย นอกจากนี้เราได้เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมเป็น D&I Committee Thailand เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมดีๆที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้ความหลากหลายและสนับสนุนทุกความเท่าเทียมมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดในปีที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้บุคคลกลุ่มที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือ Disability ได้เข้ามามีส่วนร่วมในสายงานต่าง ๆ ขององค์กร โดยเจนเนอราลี่เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของพนักงานกลุ่มนี้ที่จะเติบโตในการทำงานเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป และในปีนี้เองเจนเนอราลี่ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนทุกความหลากหลาย และจะยังคงส่งเสริมความเท่าเทียมต่อไป โดยมีการสร้างแพลตฟอร์มในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของพนักงานในองค์กร เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และความสามารถของพนักงาน รวมถึงนำทักษะ ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน และให้พนักงานในองค์กรได้ตระหนักถึงความสำคัญและให้การยอมรับในเท่าเทียมเหล่านี้ เช่น กิจกรรม “Be Bold for Inclusion” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดพร้อมกับเจนเนอราลี่ทั่วโลก มีวัตถุประสงค์ให้พนักงานเห็นถึงความสำคัญและตระหนักถึงความเท่าเทียมสตรี และกิจกรรม “WE GEN, WE PROUD” เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ เจนเนอราลี่เชื่อว่าคือข้อดีขององค์กร ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางด้านความคิด มุมมองและประสบการณ์ที่จะส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร ตามสโลแกน “It’s our differences that make the difference” เพราะความแตกต่างสร้างให้เราแตกต่าง”
ชานนท์ กสานติกุล Senior Manager, Corporate Planing เปิดเผยถึงความรู้สึกในฐานะตัวแทนของกลุ่ม LGBTQI+ ว่า “เจนเนอราลี่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม เปิดกว้างและเปิดโอกาสให้ LGBTQI+ ได้แสดงศักยภาพ และความสามารถได้อย่างเต็มที่ การได้รับเกียรติ การให้ความเคารพและยอมรับจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานด้วยกันนับตั้งแต่วันที่เข้ามาสัมภาษณ์งานถือเป็นพลังบวกและพลังที่ดี ให้ได้ใช้ความรู้และความสามารถของเราได้อย่างเต็มที่เพื่อองค์กร”
ขณะเดียวกันเจนเนอราลี่ได้มีการรับผู้มีความบกพร่องทางร่างกายเข้าเป็นพนักงานจำนวน 4 คน โดยเป็นผู้พิการหรือบกพร่องทางร่างกายด้านต่างๆ อาทิ ผู้พิการทางการได้ยินแต่กำเนิด แขนพิการ ผู้มีการรับรู้ช้า เป็นต้น ซึ่งเจนเนอราลี่มองว่าแม้ผู้พิการจะมีความบกพร่องทางร่างกายแต่ก็ยังมีศักยภาพที่สามารถดึงออกมาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากได้รับโอกาสและความเท่าเทียม ดังนั้นจึงเปลี่ยนคำว่า Disability เป็นคำว่า Diversabilty (Diverse + Ability) และนอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมบุคลากรในสายงานเดียวกันเพื่อเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ทำงานเพื่อรองรับให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานได้โดยสะดวกอีกด้วย
ประนิดา สิมัยนาม เจ้าหน้าที่ฝ่าย Human Resource Management ซึ่งเป็นผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย (แขนพิการ) บอกว่า “รู้สึกดีใจมากที่ผู้พิการได้รับการยอมรับ และได้รับโอกาสในการเข้าร่วมงานในองค์กรใหญ่ ซึ่งก็เคยทำงานในองค์กรอื่นมาก่อน แต่เมื่อมาทำงานที่เจนเนอราลี่ก็พบว่าบรรยากาศการทำงานแตกต่างจากที่อื่นมาก พนักงานในสายงานเดียวกันทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ตัวเราเป็น คอยสอนงาน และคอยช่วยเหลือทุกอย่าง ทำให้เรามีความอุ่นใจและเชื่อมั่นว่าตัวเราสามารถมีโอกาสในการพัฒนาตนเองได้”
สราลี สีสอนบุตร เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิจารณาและออกเล่มกรมธรรม์ แผนกพิจารณารับประกัน เป็นผู้พิการทางการได้ยินกล่าวว่า “เราพูดไม่ได้ ไม่ได้ยินเสียง ส่วนใหญ่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ รักษาระยะห่าง จากสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะตอนนี้ที่ต้อง Work From Home กันไปสักระยะ แต่เราก็รู้สึกโชคดีที่เจอสังคมที่ทำงานที่ดี ทำให้ชีวีตมีความสุข มุมมองของเราและประสบการณ์ที่เจอคือเจ้านายน่ารัก มีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีหัวหน้างานที่ดี เพื่อนๆ พี่ๆ ในทีมให้การต้อนรับที่อบอุ่น คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนอยู่ตลอด เปรียบเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ขอขอบคุณทีมงาน Bancassurance Life Underwriting มากค่ะ”
ด้าน เอดิสัน ไชยสงค์ รองประธาน – แผนกพิจารณารับประกัน กล่าวถึงการเตรียมตัวและปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มผู้พิการทางร่างกายว่า “การทำงานกับพนักงานกลุ่ม diversablility ไม่ใช่แค่ให้พนักงานผู้พิการต้องปรับตัวหาเรา แต่เราต้องปรับการจัดการภายในให้สามารถรองรับการทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น การดูแลพนักงานผู้พิการเนื่องจากไม่ได้ยินมาแต่กำเนิด การสอนงานที่เป็นทางเสียงจึงไม่สามารถทำได้ เพราะน้องจะจดจำเป็นภาษาเขียนเป็นอักษรภาพเท่านั้น ซึ่งศัพท์ในธุรกิจประกันภัยเป็นศัพท์เทคนิค เป็นศัพท์ใหม่มากสำหรับน้อง เช่น คำว่าสินเชื่อ และไม่เคยถูกผลิตเป็นภาษามือมาก่อน ทางแผนกจึงต้องปรับตัวโดยสอนงานที่เริ่มต้นจากขั้นตอนปฏิบัติงานไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และค่อยปรับการมอบหมายงานที่ซับซ้อนขึ้นในภายหลังเมื่อน้องมีความเข้าใจมากขึ้น เอกสารหรือสื่อการสอนต่างๆพยายามให้เป็นสัญลักษณ์ เป็น work flow หรือเป็นภาษาง่ายๆ และจากการทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งพบว่าพนักงานเหล่านี้ล้วนมีความสามารถ หากได้รับการส่งเสริมที่ดี ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เท่าเทียมกับคนทั่วไป”
เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ยึดมั่นและให้ความสำคัญกับ “การสร้างคุณค่าให้กับบุคลากร” (Value our people) ที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและความหลากหลายทางความคิด เพศ อายุ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อและไลฟ์สไตส์ที่แตกต่างกันจะขับเคลื่อนให้ธุรกิจหรือองค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน และนี่คือแนวทางในการดำเนินงานของเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ที่สอดคล้องกับนโยบายของเจนเนอราลี่ทั่วโลก เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งความเสมอภาคและเท่าเทียม