วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานการแถลง “ผลการดำเนินงานของโครงการศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการ เก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” จากผลการฉายรังสีส้มโอ เป็นผลสำเร็จ พร้อมส่งออกต่างประเทศ
โดยมี ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ จาก สทน. เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยนักวิจัยร่วมด้วย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ นักวิจัยจาก สทน. และผู้ทรงคุณวุฒิ จาก วช. รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ และ รศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอตณ ห้องโถงศูนย์สารสนเทศการวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” โดยมี ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ จาก สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา นั้น โดยการดำเนินโครงการวิจัยดังกล่าวข้างต้น เป็นความร่วมมือระหว่าง สทน. และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มุ่งมั่นจะขับเคลื่อนการส่งออกผลไม้สดด้วยการฉายรังสีก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกา โดยได้ดำเนินการวัดการกระจายปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นับเป็นความสำเร็จและความก้าวหน้าของผลงานวิจัยจากฝีมือคนไทย ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตผลไม้สด สู่การส่งออก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย สู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุน จะมุ่งเน้นการยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง สู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.สุวิมล เจตะวัฒนะ นักวิจัยจาก สทน. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ แก้วมังกร และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนการส่งออก อันเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ไข่แมลงศัตรูพืชที่อาจติดไปฟักเป็นตัวและเกิดการแพร่กระจายของแมลงในประเทศปลายทาง นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวัดการกระจายของรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบข้อกำหนดของทางสหรัฐอเมริกาไปแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ส้มโอผลสดที่ผ่านการฉายรังสียังคงมีคุณภาพดี รสชาติและอายุการเก็บรักษาไม่แตกต่างจากส้มโอที่ไม่ผ่านการฉายรังสี การทำ dose mapping ทำให้ผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตามมาตรฐานที่กำหนด และคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย
ทีมนักวิจัย พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จาก วช. ได้สรุปผลและให้ความคิดเห็นต่อโครงการวิจัย ดังกล่าวว่า กระบวนการส่งออกของประเทศไทยมีกระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่ง สทน. จะเป็นตัวกลางในการประสานงานในการส่งออกการสำรวจตลาดทิศทางของตลาดส้มโอ ซึ่งการฉายรังสีผลไม้ทุกชนิดเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยไม่มีรังสีตกค้าง มั่นใจได้ในคุณภาพ และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในอนาคตทีมนักวิจัยยินดีให้คำปรึกษาให้กับเกษตรกร เช่น ชาวสวน หรือ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติการอย่างไร ผู้ส่งออกจะต้องดำเนินการอย่างไร ในการยกระดับคุณภาพของผลไม้ไทย และพร้อมจัดอบรมให้ความรู้ให้กับเกษตรกรไทยในอนาคตต่อไป ซึ่งผลจากโครงการวิจัยจะก่อให้เกิดสร้างรายได้ให้กับประเทศนับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ
ดังนั้น การสนับสนุนของ วช. และความมุ่งมั่นของคณะผู้วิจัยในครั้งนี้ จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาและผลไม้อื่นในอนาคต โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท โทรศัพท์ 063 639 2697 Email: peerasakc@gmail.com และ ดร. หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ โทรศัพท์ 084 875 3951 Email: hannarongs@tint.or.th