คปภ. เปิดเวทีประชุม CEO Insurance Forum 2021 ระดมความคิดเห็นภาคธุรกิจประกันภัยมุ่งขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

0
1420

ผุด 4 Hack the Future เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายของภาคธุรกิจประกันภัย พร้อมข้อสรุปร่วมกันของ 3 ที่ประชุมกลุ่มย่อย เพื่อสร้างการทำประกันภัยอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยได้รับเกียรติจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษและเปิดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 (CEO Insurance Forum 2021) ภายใต้ Theme ของการประชุมคือ “Navigating the Future of Thai Insurance to cope with COVID-19 and New Emerging Risks” ในรูปแบบเสมือนจริง Virtual meeting ผ่านระบบ Zoom เพื่อเป็นเวทีสื่อสารทิศทางและนโยบายในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยไทย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย และผู้เกี่ยวข้องอีกทั้ง เป็นการแสดงศักยภาพของการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัย

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีฯ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ระบบประกันภัยกับการขับเคลื่อนการฟื้นตัวและรองรับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและสังคม” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า บริบทของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของคนในสังคม การดำเนินการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์ของโควิด-19 อาทิ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน คือ เป้าหมายสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเน้นย้ำให้สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย บูรณาการร่วมมือเพื่อผลักดันให้การประกันภัยเข้าไปมีบทบาทใน 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1) การส่งเสริมให้การประกันภัยเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 2) การปรับตัวด้านดิจิทัล และ 3) ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ควบคู่กับการสร้างความรู้ด้านการประกันภัยแก่ประชาชน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับบริบทใหม่ภายใต้ความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้ก้าวหน้า มีเสถียรภาพและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากนั้น เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยยุคใหม่” โดยฉายภาพทิศทางนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งสภาพเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง เป็นปีแรกที่ขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจประกันภัย ภายใต้แผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ระบบประกันภัยไทย มีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยง” พร้อมทิ้งท้ายด้วยหลัก 4 ประการ Hack the Future เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ท้าทายของภาคธุรกิจประกันภัย ดังนี้ 1) นำเทรนด์มากกว่าตามเทรนด์ ผลักดันกลยุทธ์ในเชิงรุกเพื่อปรับเปลี่ยน model การประกอบธุรกิจ และปรับตัวให้เร็วกว่า 2) เทคโนโลยีก้าวไกล ก้าวทัน Digital Disruption และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในธุรกิจ 3) คิดให้สุด ไม่หยุดลงมือทำ ต้องคิดแบบ forward Looking และทำจนกว่าจะสำเร็จ และ 4) เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส “COVID-19 = Opportunity” การเรียนรู้และปรับตัวเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลง

สำหรับการประชุม CEO Insurance Forum สำนักงาน คปภ. ได้ริเริ่มจัดงานมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นเวทีในการสื่อสารทิศทางและนโยบายระหว่างสำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย ภาคส่วนสมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะนำมาพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต โดยในปีนี้มี Highlight ที่สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายระดมความคิดเห็น เพื่อกลั่นกรองสู่ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มย่อยที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย” โดยประธานกลุ่ม 1 นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านกำกับ มีประเด็นหลักในการประชุม คือ การพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจประกันภัย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ควบรวมเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงหารือเกี่ยวกับแนวทางการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System หรือ IBS) ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลด้านการประกันภัย และการวิเคราะห์ข้อมูลการประกันภัย
ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้
1. เห็นชอบร่วมกันในการดำเนินการตาม Roadmap ในเรื่องต่าง ๆ คือ 1) ข้อมูล IBS และนำข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูล IBS มาดำเนินการเพื่อสร้างประโยชน์ใน 3 ส่วน คือ การทำ Data Analytics การเชื่อมโยงข้อมูลในฐานข้อมูล IBS กับฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย และการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ 2) OIC gateway ในปี 2565 จะดำเนินการต่อยอดจาก Phase 1 เพื่อสร้างประโยชน์ใน 2 มิติ คือ มิติประชาชน จะต่อยอดโดยนำ AI มาวิเคราะห์ประมวลผล และมิติภาคธุรกิจประกันภัย จะสามารถเสนอขายประกันภัยให้กับลูกค้า โดยมีความคุ้มครองไม่ซ้ำซ้อนกับที่เอาประกันภัยไว้แล้ว และ 3) การศึกษารูปแบบการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ (National Insurance Bureau) เพื่อเป็นหน่วยงานกลาง ที่มีหน้าที่ในการรวบรวม รักษากำกับดูแล และวิเคราะห์ข้อมูล IBS ต่อไป
2. การจัดตั้งคณะทำงานร่วม ระหว่างสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เพื่อร่วมพิจารณาประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัย
กลุ่มย่อยที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “การยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัยอย่างยั่งยืน” โดยประธานกลุ่ม 2 นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ มีประเด็นหลักในการประชุม คือ แนวทาง การดำเนินการในระยะสั้น เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน โดยออกมาตรการรองรับทางกฎหมาย เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทประกันภัย รวมถึงแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการในระยะยาว เพื่อยกระดับระบบประกันภัยสุขภาพมีความมั่นคงและยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยสุขภาพต่อไป และเป็นไปตามแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568)
ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้
1. มาตรการระยะสั้น เห็นชอบในหลักการยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วน โดยออกมาตรการรองรับทางกฎหมาย อาทิ การกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัท การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ และการกำหนดคุณลักษณะของบริษัทที่ประสงค์จะขอแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงภัยอุบัติใหม่ (Emerging Risk)
2. มาตรการระยะยาว จะร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับการบริหารจัดการด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกทางกฎหมายวางกรอบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบรรลุตามแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัย ฉบับ 4 (พ.ศ. 2564 – 2568) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับระบบประกันภัยสุขภาพของประเทศไทยใน 2 มิติ คือ มิติประชาชน ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และรองรับสังคมสูงวัย กลุ่มผู้เปราะบาง รวมทั้งมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันเกี่ยวกับสุขภาพ และมิติภาคธุรกิจประกันภัย กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อให้การประกันภัยสุขภาพมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ
และกลุ่มย่อยที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการรับประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอย่างยั่งยืน” โดยประธานกลุ่ม 3 นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ มีประเด็นหลักในการประชุม คือ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของระบบประกันภัยไทย ในการขับเคลื่อนเศรฐกิจ รองรับความเสี่ยงของภาครัฐและประชาชน โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการเยียวยาความเสียหายและแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการพัฒนาการประกันภัยพืชผลให้เกิดความยั่งยืน ต้องมีการพัฒนากลไกและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งการพัฒนากฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางที่จำเป็น การพัฒนาเครื่องมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับเสี่ยงภัย เช่น การจัดตั้งกองทุน เป็นต้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จาก Big Data มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพิ่มการเข้าถึง และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วมากขึ้น
ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันและเห็นว่าสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป มีดังนี้

1. นำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินความเสียหายเพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลดต้นทุน ในการบริหารจัดการ
2. ศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนประกันภัยด้านเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทประกันภัย
3. พัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านการเกษตร เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของเกษตรกรมากขึ้น
4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงการให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการทำประกันภัยอย่างยั่งยืน
5. การเข้าถึงการทำประกันภัยของเกษตรกร โดยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นรายกลุ่มในท้องที่มากกว่าการลงทะเบียนรายบุคคล และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น
6. การวางโครงสร้างพื้นฐานโดยการออกกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการประกันภัยทางการเกษตรและกำหนดนโยบายได้อย่างยั่งยืน

“การประชุม CEO Insurance Forum 2021 ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุตสาหกรรมประกันภัยไทย มีทิศทางและนโยบายหลักที่ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ ทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวน ธุรกิจประกันภัยยังแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น สามารถตอบสนองกับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้ายังคงต้องเผชิญกับปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ อีกมาก แต่สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะเรียนรู้ร่วมกันและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา พร้อมวางแผน เตรียมการและตั้งรับ เพื่อส่งเสริมให้ระบบประกันภัยของไทย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อ