คปภ. เปิดเกมรุกต้อนรับตรุษจีน..! ลุยส่งมอบ “ประกันภัยน่ารู้สู่ประตูบ้านประชาชน” • นำทัพประกันภัยลงพื้นที่ชุมชนเกาะลัดอีแท่น จังหวัดนครปฐม แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6 อย่างคึกคัก เพื่อสร้างความรู้ด้านประกันภัยแก่ชาวชุมชนพร้อมเตือนภัยที่เกิดจากมิจฉาชีพ แก๊ง Call Center และการฉ้อฉลประกันภัยเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน

0
546

           ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ณ ชุมชนเกาะลัดอีแท่น อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการประกันภัย และสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยและระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัย รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็ง สังคมไทยมั่นคง และเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวเปิดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6” ในตอนหนึ่งว่า สำนักงาน คปภ.ได้มีการปรับปรุงและต่อยอดโครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” อย่างต่อเนื่อง เพื่อเติมเต็มความรู้ด้านประกันภัยไปสู่ชุมชน ผ่านกิจกรรมเต็มรูปแบบ อาทิ การส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนผ่านการเสวนาในหัวข้อ “ประกันภัยน่ารู้สู่ชุมชน” ที่มีการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างสำนักงาน คปภ. และประชาชนในชุมชน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัยและการระงับข้อพิพาทด้านการประกันภัยโดยผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมฐานความรู้ประกันภัยสู่วิถีชุมชน

โดยสร้างการรับรู้จากประสบการณ์จริงในพื้นที่นำมาถ่ายทอดต่อให้กับคนในชุมชนได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการประกันภัยที่เกิดขึ้น ตลอดจนการเยี่ยมชมวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มีต่ออุตสาหกรรมประกันภัยในการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของประเทศ และที่เป็นจุดเด่นในการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับชาวชุมชนก็คือการเคาะประตูบ้าน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการความเสี่ยงและการเกิดภัยของประชาชน

รวมไปถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทใหม่ ๆ เพราะสำนักงาน คปภ. เชื่อว่านอกจากจะสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนแล้ว การทำความเข้าใจความต้องการของชุมชน จะมีส่วนสำคัญให้สำนักงาน คปภ. พัฒนาและนำเสนอรูปแบบการประกันภัยที่ตรงใจ และตอบโจทย์ประชาชนได้มากที่สุด
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ไฮไลท์ของโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6 ในปีนี้มี 5 ความพิเศษ คือ ความพิเศษแรก มีการบูรณาการโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ให้เชื่อมโยงเข้ากับ โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยได้ตรงตามความต้องการในระดับภาค จังหวัด และชุมชนอย่างแท้จริง เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกันภัยอ้อยที่จังหวัดอุทัยธานี ประกันภัยโรคจากพยาธิใบไม่ในตับ (มะเร็งท่อน้ำดี) ที่จังหวัดนครพนม ประกันภัยยางพาราที่จังหวัดชุมพร และประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ
ที่จังหวัดศรีสะเกษ


ความพิเศษที่สอง สำนักงาน คปภ. ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนจังหวัดที่เคยลงพื้นที่ไปแล้วในโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 2 ได้แก่ จังหวัดชุมพร และโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 3 ได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ เพราะเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจ และมีชุมชนที่มีความหลากหลาย โดยจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีขีดความสามารถทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและจะนำมาซึ่งความจำเป็นในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่แม่ฮ่องสอนก็มีความน่าสนใจเพราะเป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัวน้อยที่สุดในภาคเหนือ

ซึ่งประกันภัยก็จะยังมีบทบาทสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือที่จะเข้าไปช่วยบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและจังหวัดให้ดีขึ้นความพิเศษที่สาม การนำหลักการของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมโครงการ สำนักงาน คปภ. เชื่อว่า นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวแล้ว สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็ได้ประยุกต์หลักการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเช่นกัน และในปีนี้ ชุมชนทั้ง 5 ชุมชนที่ถูกเลือก ล้วนแล้วแต่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มีวิถีชีวิตและผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่ตอบโจทย์ในด้านการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment)

ความพิเศษที่สี่ โครงการ คปภ. เพื่อชุมชนไม่ได้เป็นเพียงการลงพื้นที่รับทราบเรื่องราวของชุมชน และนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่สำนักงาน คปภ. จะได้ร่วมแบ่งปันกลับคืนสู่สังคมหรือการจัดกิจกรรม CSR ในรูปแบบต่าง ๆ โดยสำนักงาน คปภ. ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยได้ส่งต่อกำลังใจ ความคุ้มครองและการบริหารความเสี่ยงผ่านกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มให้แก่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าและลูกจ้างชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่มีการพัฒนาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในรูปแบบที่เรียกว่า Tailor made

และความพิเศษที่ห้า ในการเสวนาที่จะให้ความรู้แก่ชาวชุมชนในเรื่องประโยชน์และประเภทของประกันภัย ที่เป็นประโยชน์แก่ชาวชุมชนแล้ว ยังจะเพิ่มความรู้เกี่ยวกับภัยของมิจฉาชีพ เช่น แก๊ง Call Center และการฉ้อฉลประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเตือนภัยและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ชาวชุมชน

สำหรับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6 มีกำหนดลงพื้นที่ชุมชน จำนวน 5 ชุมชน คือ ครั้งที่ 1 (วันที่ 30 มกราคม 2566) ลงพื้นที่ชุมชนบ้านสันติชล อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชุมชนไทยใหญ่และชุมชนชาวจีนยูนานที่ย้าย ถิ่นฐานจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งรกรากยังอำเภอปาย โดยในอดีตเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดรายใหญ่ แต่ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ครั้งที่ 2 (วันที่ 20 – 21 กุมภาพันธ์ 2566) ลงพื้นที่ชุมชนผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งชุมชนแห่งนี้สืบทอดภูมิปัญญามานานกว่า 300 ปี จึงตั้งเป็น “ศูนย์ผ้าทอลายโบราณบ้านผาทั่ง” เพื่อเผยแพร่วิถีและวัฒนธรรมผ่านผืนผ้าของชาวลาวครั่งและลาวเวียง จากรุ่นสู่รุ่น ครั้งที่ 3 (วันที่ 13 – 14 มีนาคม 2566) ลงพื้นที่ชุมชนภูไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นชุมชนที่มีความผูกพัน กับธรรมชาติ ส่วนมากจะประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว นอกจากนี้ประชากรในพื้นที่จัดตั้งกลุ่มเพื่อหารายได้เสริม จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น กลุ่มอาชีพทอผ้าพื้นเมือง กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า สินค้าที่ขึ้นชื่อ คือ ข้าวปุ้นน้ำนัว เหล้าอุ ผ้าพื้นเมือง เป็นต้น

ครั้งที่ 4 (วันที่ 26 – 28 มีนาคม 2566) ลงพื้นที่ชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ อำเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก พื้นที่เป็นแหล่งผลิตพืชสวนที่มีชื่อเสียงของจังหวัด โดยเฉพาะกาแฟที่ดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน และยางพารา รวมทั้งไม้ผลอื่น ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง เงาะ เป็นต้น และครั้งที่ 5
(วันที่ 25 – 27 มิถุนายน 2566) ลงพื้นที่ชุมชนบ้านซำตารมย์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยชุมชนแห่งนี้มีการเพาะปลูกทางการเกษตรที่สร้างรายได้และผลผลิตให้แก่ชุมชน ซึ่งมีการรวมกลุ่มให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถี โดยมีการรวมกลุ่มเกษตรกรในชุมชน โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพดี บ้านซำตารมย์”
“สำนักงาน คปภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปี 6” จะทำให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ของประเทศ ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย เกิดการตื่นตัว และได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับ ประกันภัย ได้รับภูมิคุ้มกันด้านประกันภัย และสามารถใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต และทรัพย์สินให้กับตนเองและครอบครัว ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนมากยิ่งขึ้น และช่วยทำให้การบริหาร ความเสี่ยงของชาวชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย