คปภ. เกาะติดสถานการณ์ล่าสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “เรือหลวงสุโขทัย”ล่ม

0
531

• เผยข้อมูลด้านประกันภัยล่าสุด..! ผู้สูญหาย 23 ราย มีการทำประกันภัย 13 ราย ส่วนผู้เสียชีวิต 6 ราย มีประกันภัย 3 ราย ทำไว้กับ 14 บริษัท รวมค่าสินไหมทดแทน กว่า 27 ล้านบาท
กรณี “เรือหลวงสุโขทัย” ประสบเหตุน้ำเข้าเรือเนื่องจากคลื่นลมแรง ขณะทำการลาดตระเวนอยู่บริเวณแบริ่ง 090 ระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรืออำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือจนเครื่องไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้ จนทำให้เรือเอียงและอับปางลงใต้ทะเล ส่งผลทำให้มีผู้ประสบเหตุในครั้งนี้จำนวน 105 ราย โดยได้รับการช่วยเหลือแล้ว 76 ราย สูญหายอยู่ระหว่างการค้นหาเพื่อช่วยเหลือจำนวน 23 ราย และเสียชีวิต 6 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดยสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการร่วมกับศูนย์ประสานงานช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ณ กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่ออำนวยความสะดวกตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัย ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ให้คำแนะนำแก่ผู้ประสบภัยและญาติของผู้ประสบภัย รวมทั้งประสานบริษัทประกันภัยเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างทันท่วงที และได้มีการรายงานการช่วยเหลือด้านการประกันภัยไปแล้วนั้น
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือด้านประกันภัยพบว่าในจำนวนผู้สูญหาย 23 ราย มีการทำประกันภัย 13 ราย และในจำนวนผู้เสียชีวิต 6 ราย มีการทำประกันภัย 3 ราย จำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 27,285,444 บาท โดยทำประกันภัยไว้กับ 14 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ชับบ์ ไลฟ์ แอสชัวรันซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท สหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอไอเอ จำกัด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้ประสบภัยในครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่
หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
“สำนักงาน คปภ. ได้เร่งระดมสรรพกำลังบุคลากรของสำนักงาน คปภ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายเป็นจำนวนมาก สำนักงาน คปภ. ยังคงเร่งติดตามตรวจสอบการประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการอย่างเต็มที่และสุดความสามารถเพื่อให้ผู้ประสบเหตุและครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้านประกันภัยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งนี้หากมีความคืบหน้าในการช่วยเหลือด้านประกันภัยเพิ่มเติมจะได้แจ้งให้สาธารณชนทราบต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย