คปภ. ส่ง SMS ถึงผู้เอาประกันภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เพื่อให้สามารถใช้สิทธิผ่าน Web Application ในการขอคืนเบี้ยประกันภัย หรือเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ได้รวดเร็วขึ้น

0
1423

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1936/2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 2/2564 แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้ชำระบัญชี ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป นั้น

เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้ทันที สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) ได้พัฒนา Web Application ชื่อ “ระบบแจ้งข้อมูลและสิทธิกรณีบริษัท ประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)” และได้แจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยผ่าน SMS ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้จากระบบของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมตามขั้นตอนและสิทธิต่าง ๆ ผ่านช่องทาง Web Application ดังนี้ กรณีที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ให้ผู้เอาประกันภัยยื่นขอทวงหนี้ที่กองทุนประกันวินาศภัย หรือสำนักงาน คปภ. ทั่วประเทศ กรณีที่ 2 ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้สิทธิตามที่ระบุไว้ กรณีที่ 3 ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกใช้สิทธิตามที่ระบุไว้เช่นกัน ซึ่งมี 19 บริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้าไปใช้งาน Web Application ดังกล่าวผ่านช่องทางเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. และ Chatbot “คปภ. รอบรู้”(LINE : @OICConnect) และสำนักงาน คปภ. จะรวบรวมข้อมูลจากผู้เอาประกันภัยที่แจ้งข้อมูลเพื่อส่งให้กองทุนประกันวินาศภัยดำเนินการต่อไป โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะแจ้งเป็นหนังสือทางไปรษณีย์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

“การส่ง SMS และการทำรายการผ่านช่องทาง Web Application ดังกล่าว จะไม่ทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียสิทธิที่พึงมีตามสัญญาประกันภัยแต่อย่างใด โดยเป็นการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยเพื่อให้กระบวนการชำระหนี้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ หากผู้เอาประกันภัยมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย