คปภ. ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือด้านการประกันภัยเป็นการด่วน เหตุสลดเด็กชายอายุ 14 ปี กราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน

0
422

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเด็กชายอายุ 14 ปี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมา และมีผู้บาดเจ็บ 6 คน นำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ 3 คน โรงพยาบาลตำรวจ 2 คน และโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน 1 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นั้น

ทันทีที่ทราบข่าวได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เร่งบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อติดตามและลงพื้นที่ทันทีเพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยและบูรณาการการตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูล IBS สำนักงาน คปภ. และร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย ว่าผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้มีการทำประกันชีวิต หรือประกันภัยส่วนบุคคลประเภทอื่น ๆ ไว้หรือไม่ โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ผู้บาดเจ็บหญิงสัญชาติลาวที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน มีประกันภัยแบบสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุ้มครองการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตามจริงสูงสุด 150,000 บาท และกรณีเสียชีวิต 100,000 บาท

ในส่วนของผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ซึ่งดูแลรับผิดชอบพื้นที่เกิดเหตุได้เข้าเยี่ยมและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้แก่ครอบครัวของผู้บาดเจ็บและตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้บาดเจ็บมีประกันภัยประเภทอื่น ๆ อีกหรือไม่แล้ว หากมีการทำประกันภัยไว้สำนักงาน คปภ. จะเร่งดำเนินการติดตามประสานงานให้บริษัทประกันภัยชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วต่อไป

สำหรับผู้เสียชีวิตที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวเมียนมา ในเบื้องต้นตรวจสอบยังไม่พบการทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยของไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะอำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารและข้อมูลด้านประกันภัยอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เพิ่มเติมพบว่าห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน ได้ทำประกันภัยไว้ จำนวน 2 กรมธรรม์ คือ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) จำนวนเงินเอาประกันภัย 16,373,000,000 บาท ระยะเวลาประกันภัยเริ่มวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีสัดส่วนประกันภัยร่วม ประกอบด้วย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 70 % บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15 % และ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15 % และกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability) จำนวนเงิน limit of liability 100,000,000 บาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานบริษัทประกันภัยเบื้องต้นแล้ว

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และจะระดมสรรพกำลังบุคลากรของสำนักงาน คปภ. เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ รวมทั้งบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความเสียหายโดยเร็วต่อไป แต่เนื่องจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อันนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุเสมอ ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงควรทำประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประกันชีวิต การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันภัยสุขภาพ หรือประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเข้าไปเยียวยาความสูญเสียทั้งต่อตนเองและบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัยให้สอบถามหรือแจ้งสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย