คปภ. ลงพื้นที่ช่วยเหลือด้านประกันภัยกรณีรถไฟเฉี่ยวชนรถบัสโดยสาร ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บ 42 ราย ตรวจสอบพบมีประกันภัยภาคบังคับ-ภาคสมัครใจ พร้อมเร่งนำระบบประกันภัยช่วยเยียวยาความเสียหายโดยเร็ว

0
1664

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีการเกิดอุบัติเหตุรถไฟบรรทุกสินค้าเฉี่ยวชนรถบัสโดยสาร หมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ที่นำผู้โดยสาร จำนวน 60 คน ไปทอดกฐินวัดบางปลานัก โดยเดินทางมาจากจังหวัดสมุทรปราการ ทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 18 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 42 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2563 บริเวณสถานีรถไฟแขวงกลั่น หมู่ 7 ตำบลบางเตย อำเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เบื้องต้นเลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสายกลยุทธ์องค์กร บูรณาการการทำงานร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดตามและตรวจสอบการจัดทำประกันภัยของรถบัสโดยสารที่ประสบอุบัติเหตุ ว่า มีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง

เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้กับผู้ประสบภัยในครั้งนี้  ทั้งนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นจาก สำนักงาน คปภ.ภาค 6 (ชลบุรี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้ลงพื้นที่และประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ว่า รถบัสโดยสารหมายเลขทะเบียน 30-1476 พระนครศรีอยุธยา ได้ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ NCMI9007926071 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต รายละ 500,000 บาท/คน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน รายละ 80,000 บาท/คน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาท/คน กรณีทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาท/คน และคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง และได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 6336600792 เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2563 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 500,000 บาท/คน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร (ผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 39 คน) 50,000 บาท/คน ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท/คน ประกันตัวผู้ขับขี่ 100,000 บาท

 จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 18 ราย เบื้องต้นจะได้รับค่าเสียหาย รายละ 85,000 บาท จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) สำหรับค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 50,000 บาทสำหรับผู้บาดเจ็บเป็นผู้โดยสารรถบัส จำนวน 42 ราย ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธ​     โสธร บ้านโพธิ์ คลองเขื่อน และ
เกษมราษฎร์ โดยในเบื้องต้นผู้บาดเจ็บจะได้รับสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท/คน และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 50,000 บาท/คน รวมรายละไม่เกิน 80,000 บาท โดยสำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเข้ารับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลที่รับรักษาโดยตรงเรียบร้อยแล้ว 

ทั้งนี้ ในส่วนค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์นอกเหนือจากนี้ ต้องรอผลคดีจากพนักงานสอบสวนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท อย่างไรก็ตาม สำหรับวงเงินความคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันภัยรถภาคบังคับที่จัดทำไว้ กำหนดไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง และวงเงินความคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันภัยรถภาคสมัครใจ ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งจากอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่ามีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้น การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจึงต้องใช้หลักการเฉลี่ยจ่ายภายในวงเงินความคุ้มครองสูงสุดต่อครั้ง ยกเว้นผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตจะได้รับค่าเสียหาย​ ตามสัญญาประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้น จำนวน 35,000 บาท และสัญญาแนบท้ายประกันอุบัติเหตุ (PA) จำนวน 50,000 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ.จังหวัดฉะเชิงเทราได้ประสานงานกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทผู้รับประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยแก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร็ว​    ต่อไป

   “สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว รวมทั้งมีความห่วงใยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชนควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นได้ และหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและกรมธรรม์ประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย