คปภ. รายงานภาพรวมความคืบหน้าการจ่ายสินไหมประกันภัยกว่า 50 ล้านบาท ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ กรณีกราดยิงใจกลางเมืองโคราช

0
1725

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุสะเทือนขวัญมีการใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิง ทหาร ตำรวจ และประชาชน ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณกลางใจเมือง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต (รวมคนร้าย) จำนวน 30 ราย บาดเจ็บ 58 ราย โดยเบื้องต้นสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ได้เร่งตรวจสอบข้อมูลด้านการประกันภัยของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเร็ว และเร่งออก 6 มาตรการด้านประกันภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปแล้ว นั้น

ล่าสุด แม้สถานการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว สำนักงาน คปภ.จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย บริษัทประกันภัย ลงพื้นที่และตรวจสอบการทำประกันภัยของผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้ติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งครอบคลุมความคุ้มครองทั้งชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมจำนวน 51,378,134.90 บาท โดยข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทประกันภัยมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียชีวิต จำนวน 23 ราย 21 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.ไทยประกันชีวิต บจ.เอไอเอ บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต บมจ.ฟิลลิปประกันชีวิต บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต บมจ.สหประกันชีวิต บมจ.ชับบ์ไลฟ์ประกันชีวิต บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต บมจ.เอ็มบีเคไลฟ์ ประกันชีวิต บมจ.กรุงไทย – แอกซ่าประกันชีวิต บมจ.เมืองไทยประกันภัย บมจ.ทิพยประกันภัย บจ.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ บมจ.วิริยะประกันภัย บมจ.แอลเอ็มจีประกันภัย บมจ.บางกอกสหประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย บมจ.กรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย และบมจ.ธนชาตประกันภัย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32,143,134.90 บาท สำหรับผู้เสียชีวิตอีก จำนวน 7 ราย ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบข้อมูลการทำประกันภัยไว้ แต่อย่างไรก็ตาม หากพบข้อมูลด้านการประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม สำนักงาน คปภ.จะเร่งดำเนินการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็วต่อไป

สำหรับรถยนต์และทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จากการตรวจสอบข้อมูล ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจัดทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับ บมจ. ไทยประกันภัย โดยบริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 15,000 บาท และ บมจ.วิริยะประกันภัย โดยบริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว จำนวน 220,000 บาท อีกส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์หลักฐาน ทั้งนี้ หากภายหลังจากกระบวนงานพิสูจน์หลักฐานเรียบร้อยแล้ว บริษัทผู้รับประกันภัยจะได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ บริษัทสยามดีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา) ได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ไว้กับ บมจ.ทิพยประกันภัย โดยมีสัดส่วนของบริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันภัย ดังนี้ บมจ.ทิพยประกันภัย 40% บมจ.ฟอลคอนประกันภัย 25% บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 15% บมจ.แอกซ่าประกันภัย 10% บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย 10% โดยบริษัทผู้รับประกันภัยได้ดำเนินการประเมินความเสียหายและพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทน (อยู่ระหว่างผู้เสียหายรวบรวมเอกสารประกอบการจ่าย) จำนวน 10,000,000 บาท และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (BI) จำนวน 5,000,000 บาท และจัดทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย (อยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหาย) นอกจากนี้บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยภายในห้างเทอมินอล 21 นครราชสีมา ได้จัดทำประกันภัยไว้กับ บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ สาขาประเทศไทย โดยบริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทน สำหรับความเสียหายแล้ว จำนวน 4,000,000 บาท

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) ว่า มีบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่งได้ลงพื้นที่ เพื่อร่วมบริจาคเงินเพิ่มเติมให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ อาทิ บจ.เอไอเอ ร่วมบริจาคเงิน จำนวน 2,000,000 บาท บมจ.เมืองไทยประกันภัย จำนวน 200,000 บาท บมจ.วิริยะประกันภัย มอบเงินให้กับญาติผู้เสียชีวิตครอบครัวละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์โบรคเกอร์ จำกัด มอบเงินให้กับตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จำนวน 520,000 บาท บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมบริจาค จำนวน 1,000,000 บาท และมอบเงินช่วยเหลือพิเศษผู้เสียชีวิตรายละ 100,000 บาท ผู้บาดเจ็บรายละ 50,000 บาท รวมถึงร่วมกับบริษัทดีแทค มอบเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่เป็นลูกค้าตามโครงการ dtac life care จำนวน 6 ราย เป็นเงิน 600,000 บาท เป็นต้น

“สำนักงาน คปภ. จะร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน ถูกต้องตามสัญญาประกันภัย และขอขอบคุณภาคอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบที่ทุ่มเทสรรพกำลังในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ อันนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย