คปภ. ยกทีมลงพื้นที่ชุมชนบ้านโนนหอม จังหวัดสกลนคร ถอดบทเรียนกรณีน้ำท่วมใหญ่ ปี 2560 ที่สกลนคร ย้ำให้ทำประกันภัย ข้าวนาปีเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยง พร้อมเตรียมพัฒนาประกันภัยคุ้มครองโคเนื้อโพนยางคำ ตามเสียงเรียกร้องของชาวชุมชน

0
1684

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ “พายุเซินกา” เมื่อปี 2560 ซึ่งมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สิน ตลอดจนพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร เกิดน้ำท่วมหนักสุด ในรอบ 40 ปี พืชผลทางการเกษตรรวมถึงข้าวนาปีได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่กลับพบว่ามีการทำประกันภัยข้าวนาปีเพียงร้อยละ 51.55

ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 เลขาธิการ คปภ. จึงได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยของ สำนักงาน คปภ. ผู้แทนจากกองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาทางการเงิน สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย พร้อมด้วยผู้บริหารบริษัทประกันภัยหลายบริษัท ลงพื้นที่ชุมชนบ้านโนนหอม จังหวัดสกลนคร ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit ในโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 3 เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากประสบการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2560 โดยเคาะประตูบ้าน พูดคุยกับชาวชุมชนที่ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากภัยน้ำท่วมดังกล่าวจากการทำประกันภัยภัยข้าวนาปี พร้อมเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวชุมชน และสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุก เพื่อให้ชาวชุมชนเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยที่เหมาะสมกับความต้องการ ซึ่งรวมทั้งประกันภัยข้าวนาปี เพื่อจะได้นำระบบประกันภัยไปใช้เป็นเครื่องมือบริหาร ความเสี่ยงในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนนำระบบประกันภัยไปช่วยเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนยามเมื่อมีภัย รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออุตสาหกรรมประกันภัย

ในการนี้ ได้จัดเสวนาให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่ชุมชน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์, นายสุรินทร์ ตนะศุภผล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค, นายพงษ์ธร พรพนัสศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกิจประกันภัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และ นางสาวกัลยา จุกหอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สายงานวิชาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการทำประกันภัยประเภทต่าง ๆ โดยเน้นการประกันภัยข้าวนาปี และการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัย พ.ร.บ.) ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องชาวชุมชนบ้านโนนหอม สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้การต้อนรับ โดยมีนายศรชัย ขันเพียแก้ว ผู้ใหญ่บ้านโนนหอม พาเยี่ยมชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของชาวชุมชน พร้อมทั้งพบปะพูดคุยถึงเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2560 ว่าชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างมาก มีความเดือดร้อน ทุกข์ยาก เนื่องจากนาข้าว พืชผัก ผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ เสียหายอย่างหนัก โชคดีที่ชาวนาที่ทำประกันภัยข้าวนาปีไว้ได้รับการเยียวยาเป็นเงินค่าสินไหมทดแทน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทำให้สามารถนำเงินไปซื้อพันธุ์ข้าว และเป็นค่าใช้จ่ายในการทำนาต่อไปได้ และดีใจที่ปีนี้ประกันภัยข้าวนาปีมีแบบที่สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับชาวนาที่ต้องการความคุ้มครองเพิ่ม ดังนั้น ขอให้มีโครงการประกันภัยข้าวนาปีทุกปี และนอกจากการทำนาแล้วชาวบ้านยังมีอาชีพเลี้ยงโคเนื้อโพนยางคำ จึงอยากให้มีประกันภัยโคเนื้อมาเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับชาวโนนหอมอีกด้วย

ส่วนนางประสงค์ ไขประภาย เกษตรกรในพื้นที่ชุมชนบ้านโนนหอม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้ขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ที่บ้านโนนหอมในครั้งนี้ ทำให้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำประกันภัย ซึ่งตนเองมีบ้านจึงต้องการทำประกันอัคคีภัย และจะจัดทำประกันภัยอัคคีภัยบ้านของตนเองในวันนี้ด้วย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายว่า “สำนักงาน คปภ. มีความภาคภูมิใจที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน นำระบบประกันภัยเข้าไปช่วยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับพี่น้องชาวนา ให้ได้รับการเยียวยาความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัยเข้าไปสู่กลุ่มประชาชนระดับรากหญ้าให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย การที่สำนักงาน คปภ. และ คณะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนทราบความต้องการเรื่องผลิตภัณฑ์ประกันภัย ที่จำเป็นสำหรับชุมชน ซึ่งจะได้นำข้อแนะนำของชาวชุมชนบ้านโนนหอมไปศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยคุ้มครองโคเนื้อต่อไป”