คปภ. ประกาศ 6 มาตรการเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ จากกรณีกราดยิงกลางใจเมืองโคราช

0
1563

• พร้อมบูรณาการประสานเครือข่ายตรวจสอบความเสียหาย – เร่งรัดดูแลช่วยเหลือด้านประกันภัยแบบครบวงจร

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณี จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดกรมสรรพาวุธ กองพันกระสุนที่ 22 กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ก่อเหตุสะเทือนขวัญใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิง ทหาร ตำรวจ และประชาชน หลังจากนั้นหลบหนีเข้าไปภายในห้างเทอร์มินอล 21 ซึ่งตั้งอยู่กลางใจเมือง จังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต (รวมคนร้าย) จำนวน 30 ราย บาดเจ็บ 58 ราย เหตุเกิดระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2563 เบื้องต้นสำนักงาน คปภ. ได้เร่งตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งหมดจากเหตุการณ์นี้มีการทำประกันภัยประเภทใดไว้บ้าง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการนำระบบประกันภัยเข้าไปเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ตามที่มีการเสนอข่าวประชาสัมพันธ์ไปแล้วนั้น

สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแบบบูรณาการให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครบวงจร ดังนี้

มาตรการที่ 1 ออกคำสั่งขยายระยะเวลาการผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันชีวิตและประกันภัยสุขภาพ ให้กับ
ผู้เอาประกันภัย ในกรณีครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 โดยขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไปอีก 60 วัน นับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม

มาตรการที่ 2 ออกคำสั่งยกเว้นดอกเบี้ยและงดการตรวจสุขภาพกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุหรือกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์ประกันชีวิต ภายใน 6 เดือน

มาตรการที่ 3 ออกคำสั่งให้ในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 อาจได้รับยกเว้นดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

มาตรการที่ 4 ออกคำสั่งอนุญาตให้ตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบและใบอนุญาตตัวแทน นายหน้าประกันภัยสิ้นอายุตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2563 ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถยื่นขอขยายระยะเวลาพร้อมขอต่ออายุใบอนุญาตได้ 15 วัน

มาตรการที่ 5 บูรณาการร่วมกับบริษัทประกันภัยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการพิจารณาสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเยียวยาอย่างทันท่วงที โดยตรวจพบว่าห้างเทอร์มินอล 21 ได้ทำประกันภัยกับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,185 ล้านบาท และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก จำนวนเงินเอาประกันภัย 464 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างส่งผู้สำรวจภัยเข้าไปประเมินความเสียหาย เพื่อเร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนผู้เสียชีวิต จำนวน 29 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) พบว่า มีการทำประกันภัยไว้ทั้งสิ้น 22 ราย จากบริษัทประกันภัย 17 บริษัท ซึ่งขณะนี้ได้มีการจ่ายหรือเตรียมการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว สำหรับผู้บาดเจ็บที่มีการทำประกันภัยไว้ จะได้รับการดูแลและช่วยเหลือตามสัญญาประกันภัยอย่างเต็มที่ รวมถึงความเสียหายอื่นๆ อาทิ ความเสียหายของรถยนต์ หรือทรัพย์สินอื่นๆ ที่ได้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายไว้ บริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง จะเร่งการจ่ายค่าสินไหมทดแทนภายหลังจากที่หน่วยงานพิสูจน์หลักฐานได้เข้ามาตรวจสอบเสร็จสิ้น

มาตรการที่ 6 สั่งการให้สำนักงาน คปภ. (ส่วนกลาง) บูรณาการร่วมกับสำนักงาน คปภ. ภาค 4 (นครราชสีมา) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดนครราชสีมา เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ และร่วมงานศพผู้เสียชีวิต ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยให้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว และจะทุ่มเทสรรพกำลังบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อนำระบบประกันภัยมาเยียวยาความสูญเสีย บาดเจ็บ และเดือดร้อนจากภัยครั้งนี้โดยเร็ว หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย