ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการส่งข่าวกระจายตามช่องทางออนไลน์กลุ่มต่าง ๆ ว่ามีการปรากฏพฤติการณ์ของผู้เอาประกันภัยโควิด-19 บางรายเอาตัวไปเสี่ยงให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อหวังจะได้เคลมเงินประกัน และมีการส่งคลิปในลักษณะว่าติดโควิด-19 แล้วสบายเพราะจะได้เงินเอาประกันนั้น สำนักงาน คปภ. ไม่ได้นิ่งเฉยในกรณีดังกล่าว โดยได้ออกข่าวแจ้งเตือนไปแล้ว ว่าการกระทำดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต และเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริตก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย พร้อมได้แนะนำให้ภาคธุรกิจประกันภัย กำหนดมาตรการป้องปรามและรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้สิทธิโดยชอบของประชาชนผู้เอาประกันโควิด-19 ที่สุจริต และไม่เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้ประชุมออนไลน์หารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อหาวิธีการป้องปรามและกำหนดมาตรการป้องกันมิให้มีการขยายผลและเกิดกรณีดังกล่าว โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว รวม 6 มาตรการ ดังนี้
มาตรการเร่งด่วน :
1. ให้มีการส่งข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการเคลมประกันโควิด-19 เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบ โดยในส่วนของสำนักงาน คปภ. จะใช้ระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System : IBS) ที่บริษัทประกันภัยรายงานข้อมูลเข้ามา มาช่วยในการวิเคราะห์พฤติการณ์การเคลมที่ผิดปกติ สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อตรวจสอบพฤติการณ์การเคลมที่ผิดปกติ โดยให้รายงานข้อมูลมาที่สำนักงานคปภ. ด้วย โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประกันโควิด-19 ศูนย์ IBS และระบบ Application ของสายกฎหมายและคดีของสำนักงาน คปภ. จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูล และจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ก็จะบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัด
2. ให้เร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนผู้เอาประกันภัยที่สุจริต จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะกระบวนการกลั่นกรองและตรวจสอบดังกล่าว จะส่งผลกระทบเฉพาะต่อกรณีเคลมที่มีความผิดปกติเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิด และปราบปรามผู้กระทำความผิด
3. สำนักงาน คปภ.จะเผยแพร่ผลการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของธุรกิจประกันภัยไทย เพื่อให้ประชาชน เกิดความเชื่อมั่นว่าบริษัทประกันภัยมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายสินไหมทดแทน หากมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย และการปรับแผนการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท เป็นเพียงกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงตามสถานการณ์ เพื่อให้บริษัทสามารถรับประกันภัยได้อย่างมั่นใจภายใต้ขีดความสามารถ ในการรับประกันภัยของบริษัทนั้น ๆ
4. ให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติตามมาตรการ พร้อมทั้งประกาศของสำนักงาน คปภ. และคำสั่งนายทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัยโดยเคร่งครัด
มาตรการระยะยาว :
5. จะมีการบูรณาการการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. และผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและถือเป็นแนวปฏิบัติของระบบประกันภัยต่อไป
6. จะปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนจากการฉ้อฉลประกันภัย โดยจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมด้านการประกันภัย เพื่อหามาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
“ประกันภัยโควิดเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีการพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อต้องการให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถบริหารความเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยความคุ้มครองที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้ง่าย เน้นการซื้อผ่านออนไลน์ และเบี้ยประกันภัยไม่แพง รวมถึงกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ยุ่งยาก ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการพิสูจน์ว่าเกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประชาชนที่มีความเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ สำนักงาน คปภ. จึงไม่ต้องการให้มีพฤติการณ์ใด ๆ ที่จะทำให้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวของประชาชนผู้สุจริตต้องเสียไป และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นพฤติการณ์นี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยของประชาชนอย่างเต็มที่” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย