คปภ. จัดเวที InsurTech Panorama 2019 ส่งท้ายปีเก่า : ดึงผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและเทศ เปิดมุมมองเทคโนโลยีประกันภัยอัปเดตเทรนด์โลกก้าวสู่อนาคตประกันภัยไทยปี 2020

0
1632

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. โดย Center of InsurTech, Thailand (CIT) จัดการประชุม สัมมนาวิชาการเปิดมุมมองด้านเทคโนโลยีการประกันภัย ภายใต้ชื่องาน InsurTech Panorama 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้และสร้างเสริมแนวคิดทันสมัย ให้แก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงการประกันภัยและเทคโนโลยี รวมถึงบุคคลที่สนใจได้มีโอกาสเปิดรับและแลกเปลี่ยนแนวคิดในระดับสากล อันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่และพัฒนาเทคโนโลยีประกันภัยของไทย ให้ก้าวหน้าไปพร้อมเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยงานนี้ได้จัดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ณ ศูนย์ประชุม C-Asean อาคาร CW โดยมีกลุ่มบุคคลจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจประกันภัย กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยี และ Startup รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นนำให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนารวมจำนวนกว่า 300 คน

ทั้งนี้ การสัมนา IsurTech Panorama 2019 ยังได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีประกันภัยจากบริษัททั้งในและต่างประเทศ อาทิ Plug and Play California, Symbo Singapore, Accelerating Insurance Hong Kong, Fairdee InsurTech, เมืองไทยประกันชีวิต ซึ่งวิทยากรต่างได้กล่าวถึงประเด็นของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีผลดีต่อธุรกิจประกันภัย รวมถึงถึงการใช้แนวคิดแบบ Startup มาประยุกต์ใช้เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวและพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นแกนกลางของกระแสเทคโนโลยีด้านการประกันภัยในระดับโลก ที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อทั้งองค์กรและกลุ่มผู้บริโภคด้านประกันภัยของไทย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจประกันภัยมีความตื่นตัว และเปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตประกอบด้วย ๓ ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก คือ การยอมรับและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงเป็นการสร้าง ecosystem เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ InsurTech ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในระยะยาว โดยบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่หันไปจับมือกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เช่น Startup firm หรือ Outsourcing ซึ่งทำให้บริษัทประกันภัยสามารถก้าวข้ามข้อจำกัด และช่องว่างด้านความรู้ของตนเอง รวมทั้งยังเป็นการเปิดรับ แนวคิด มุมมอง และวิธีการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กรอีกด้วย

ประเด็นที่สอง การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค จากข้อสังเกตที่ว่ากลุ่มลูกค้าสมัยใหม่นั้นไม่เคยออกห่างจากโทรศัพท์มือถือของตนเอง จึงทำให้บริษัทประกันภัยเริ่มเจาะไปที่กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้ Big Data และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นที่สาม คือ ระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะเห็นได้ว่ารูปแบบการให้บริการของบริษัทประกันภัยเปลี่ยนไปจากเดิม การบริการจะเน้นไปที่การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า มากกว่าการทำการตลาด การโฆษณา หรือการขายซึ่งเป็นรูปแบบเดิม โดยการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า สามารถทำได้หลายหลากวิธี อาทิ การบริการที่รวดเร็ว หรือ การให้บริการพิเศษ เช่น การปรึกษาแพทย์ออนไลน์ฟรี การมีมาตรการจูงใจให้ไปออกกำลังกายด้วยส่วนลดพิเศษ ให้สิทธิพิเศษในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ร่วมกิจกรรมเพื่อสุขภาพแล้วได้คะแนนสะสมเพื่อลดเบี้ยประกัน หรือรับของรางวัลต่างๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีระบบ ecosystem ที่รองรับและเชื่อมโยงกันหมด

ในภาพรวมการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในวงการประกันภัยในรอบปีที่ผ่านมามีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดย สำนักงาน คปภ. มี Centre of InsurTech, Thailand (CIT) เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีการประกันภัย และนำองค์ความรู้นั้นไปพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยในด้านต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมเชื่อมโยงเพิ่มการให้บริการภาคประชาชนมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งในปีนี้ศูนย์ CIT ได้มีการดำเนินงานที่เข้มข้นครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และส่งเสริมความรู้ ศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย ให้กับ Startups กลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจ โดยนอกจากการจัดสัมมนา Panorama ในครั้งนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ อาทิ Hackathon และ InsurTech Bootcamp แนะแนวให้ความรู้ เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการประกันภัยให้กับนิสิต นักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่องรวมไปถึงการจัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย หรือ OIC InsurTech Award

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา “Application คนกลาง ForSure” ขึ้น เพื่อให้ตัวแทน/นายหน้าประกันภัยสามารถตรวจสอบข้อมูลใบอนุญาตของตนเอง และให้ลูกค้าตรวจสอบใบอนุญาตขณะเสนอขายประกันภัยได้ ตลอดจนมีการพัฒนา Chat Bot @OICConnect ขึ้น ซึ่งเป็นระบบ AI ที่มีความสามารถในการประมวลภาษาไทย แยกแยะหาคำสำคัญที่สอบถามเข้ามายังสำนักงาน คปภ. และค้นหาคำตอบส่งกลับไปโดยอัตโนมัติ

“ผมเชื่อมั่นว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจะร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจประกันภัยกลุ่ม InsurTech Startup และผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาและนำพาอุตสาหกรรมประกันภัยให้ก้าวข้ามความ ท้าทายต่างๆ และสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสมากมายที่ก่อตัวขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ทุกท่านมีความตื่นตัว และมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบอยู่เสมอ และร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าแบบไม่เพียงแต่ก้าวทัน แต่ให้ก้าวล้ำการเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าและการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กล่าวในตอนท้าย