คนประกันปันโลหิต ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

0
1151

ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤติการขาดแคลนโลหิตครั้งใหญ่ จนมีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องเลื่อนการผ่าตัดและการรักษาพยาบาลออกไป โดย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สามารถจ่ายโลหิตให้ผู้ป่วยได้เพียง 28% ของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการโลหิตในการรักษาเท่านั้น  ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดได้คลี่คลายไปมากแล้ว จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกคนจะสามารถกลับมาบริจาคโลหิตได้ตามปกติ ในส่วนของธุรกิจประกันชีวิต โดยความร่วมมือของสี่องค์กรหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และกองทุนประกันชีวิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีโลหิตไว้สำรองเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย รณรงค์ให้บุคลากรของธุรกิจประกันภัยและประชาชนร่วมบริจาคโลหิต เพื่อเป็นการแสดงความรักความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั่วประเทศ เนื่องในวันประกันชีวิตแห่งชาติ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และได้ส่งมอบโลหิตไปแล้วกว่า 19,554,319 ซีซี  

สำหรับในปีนี้การจัดกิจกรรมบริจาคโลหิตเนื่องในวันประกันชีวิตแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2565 เวลา 07.30-16.00 น. ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

โดยส่วนประกอบต่าง ๆ ของโลหิตที่ทุกท่านบริจาค จะสามารถช่วยในการรักษาผู้ป่วยได้ดังนี้

– เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว

– เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการ
ผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร

– พลาสมา นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อคจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่ม

ขณะเดียวกัน ประโยชน์ที่ผู้บริจาคโลหิตเป็นประจำจะได้รับ คือ ได้ตรวจสุขภาพ ตรวจคุณภาพโลหิตทุก 3 เดือน ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ซี ไวรัสเอดส์ และเชื้อซิฟิลิส อีกทั้งยังได้ริบสิทธิพิเศษในการรักษาพยาบาล เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่มีค่าที่สุดที่ผู้บริจาคจะได้รับ คือความสุขใจจาก “การให้” เพื่อต่อชีวิตให้กับคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่และงดงามที่สุด