“กิฟฟารีน” ครึ่งปีแรกยอดออนไลน์โตแรง! หลังวิกฤตโควิด-19 สร้างปรากฎการณ์ ปลุกกระแสรักสุขภาพ ส่งให้กลุ่มผลิตภัณฑ์กระชาย และฟ้าทะลายโจรยอดพุ่ง! โตสวนกระแสเศรษฐกิจ พร้อมทำตลาดออนไลน์เต็มสูบ เตรียมรับมือผู้บริโภคยุค New Normal
คุณพงศ์พสุ อุณาพรหม ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจว่า บริษัทได้วางแพลตฟอร์มออนไลน์ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ประมาณ 2 ปี เมื่อมีการระบาดของโควิด บริษัทจึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้ดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ประกอบกับปัจจัยหลัก คือ สินค้าของกิฟฟารีน มีหลากหลาย ทำให้กลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันสินค้ากลุ่มเสริมอาหารเป็นกลุ่มที่เติบโตมาต่อเนื่อง แม้มีโควิดก็ยังโต
“สำหรับภาพรวมครึ่งปีแรก 2564 แม้ในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ไม่ค่อยสู้ดี สู้ปีที่ผ่านมาไม่ได้ จากผลกระทบโควิดระลอก 3 แต่ก็สร้างปรากฎการณ์ ปลุกกระแสรักสุขภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์กระชายและฟ้าทะลายโจรที่บริษัทมีอยู่ก่อนแล้ว ยอดขายพุ่ง ตอนนี้สินค้าหมด กลุ่มอาหารเสริมขายดีเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สินค้าที่อยู่ในกระแสนั้นขายดีมากจนไม่พอ”
โดยมีการวางกลยุทธ์กระตุ้นการซื้อซ้ำ 1. ไอเทมสินค้าต้องเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้บริโภค 2. ราคาต้องเข้าถึงง่าย 3. โปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย สำหรับ 3 ข้อหลักนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่กำลังซื้อไม่สูงสามารถเข้าถึงได้ง่าย ประกอบกับแผนครึ่งปีหลังมีการปรับการทำตลาดออนไลน์ รองรับผู้บริโภคยุค New Normal รวมถึงการทำเทรนด์นิ่งสอนนักธุรกิจ และกิจกรรมต่างๆ ปัจจุบันบริษัทวางความถี่ในการจัดกิจกรรมหรือการประชุม ผ่าน Live Facebook ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 12 ไลฟ์
“ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ ตอนนี้มีสินค้าเพื่อสุขภาพ เกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร เน้นสารสกัดเฉพาะมีความเข้มข้นมากขึ้น มีกระชายพลัส ผลตอบรับดีต่อเนื่อง จากกระแสที่มีผู้นิยมบริโภคมากขึ้นยิ่งได้รับความสนใจเ มื่อสมาชิกทำตลาดได้ บริษัทจึงปรับเปลี่ยนทริปท่องเที่ยว เป็นรางวัลเงินสดแทน แน่นอนว่าสมาชิกต่างก็มีความสุขจากผลตอบแทนส่วนนี้”
คุณพงศ์พสุ อุณาพรหม ยังกล่าวต่ออีกว่า หากสถานการณ์โควิดยังระบาดต่อไป กิฟฟารีนก็ปรับตัวอีก แม้ในส่วนของการขนส่งสินค้าจะมีซัพพลายเออร์อยู่แล้ว เดลิเวอรี่ก็มีเพิ่มแล้ว รวมถึงการวางแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการของสมาชิกและผู้บริโภคยุคใหม่
“อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์แบบนี้ ผมคิดว่า คนทำขายตรงจะมีสัญชาตญาณที่ดีในการเอาตัวรอด แล้วก็มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ในเมื่อโควิดไม่จบง่าย แต่ด้วยสัญชาตญาณที่ดี หลายท่านจึงแสวงหาหนทางในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยอาศัยเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ขณะเดียวกันผู้บริโภคหรือลูกค้าก็มีกำลังซื้อลดลง จะเน้นการขายเอายอดอย่างเดียวไม่ได้ ผู้นำต้องให้กำลังใจ สร้างสายสัมพันธ์ จึงจะรักษายอดขายและเอาตัวรอดไปได้
คาดว่าต่อไปนี้ทุกๆ ปี เราต้องกลับมาวิเคราะห์ 1. เทรนด์ของโปรดักส์ หากระแสที่น่าสนใจ และ 2. พฤติกรรมผู้บริโภค ต้องจับตาเทรนด์ผู้บริโภคหลังวิกฤติโควิด เพราะเชื่อว่า รูปแบบการซื้อขายอาจจะเปลี่ยนแปลงไป หลายองค์กรจึงต้องโฟกัส 2 ข้อนี้ให้มากขึ้น”