การเคหะแห่งชาติ เผยผลการศึกษา“โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง” ร่วมกับชาวชุมชน นำไปสู่การวางแผนการฟื้นฟูเมืองในอนาคต

0
382

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษาดำ เนินการศึกษา“โครงการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดทำโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง”เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้เบื้องต้นในการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม และเพื่อเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายในชุมชน การสร้างความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อการฟื้นฟูเมืองให้กับผู้อยู่อาศัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมทั้งศึกษาความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชน รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาฟื้นฟูเมืองร่วมกับองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การวางแผนการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวางในอนาคตโครงการเคหะชุมชนห้วยขวางเป็นโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่อยู่ภายใต้การดูแลของการเคหะแห่งชาติ มีอาคารพักอาศัย 38 อาคาร หน่วยพักอาศัยรวม 3,360 หน่วย

ภายในโครงการฯ ยังประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ ตลาดสดห้วยขวาง แผงประกอบการค้า รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนตั้งอยู่ในพื้นที่ ปัจจุบันโครงการเคหะชุมชนห้วยขวางมีการอยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 60 ปี การเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วส่งผลให้ เกิดการพัฒนาเมืองและระบบขนส่งมวลชนในบริเวณพื้นที่โดยรอบโครงการ ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน ทั้งด้านกายภาพ สังคม การอยู่อาศัย และเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้พื้นที่เกิดความแออัดและเกิดปัญหา สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ที่ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน การเคหะแห่งชาตจึงต้องการฟื้นฟูชุมชนและพัฒนาพื้นที่ทั้งในส่วนของตัวอาคารที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้ดีขึ้น

นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความ จำเป็นในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนห้วยขวาง ให้สอดรับกับการเจริญเติบโตของเมืองและการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การฟื้นฟูชุมชนเมืองพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart City เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายรัฐ เพื่อพัฒนาฟื้นฟูเมืองโดยการปรับปรุงพื้นที่โทรมให้ดีขึ้น ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้มีการยอมรับความเปลี่ยนแปลงในการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ”