“การเคหะแห่งชาติ” เดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์สู่แผนปฏิบัติการ ชู 6 โครงการสำคัญปี 2566 มุ่งเสริมสร้างความมั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

0
649

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) รัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน เปิดทิศทางการดำเนินงานปี 2566 พร้อม วิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยประกาศเดินหน้า 6 โครงการสำคัญ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2570 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) สู่เป้าหมายสร้างบ้านคุณภาพที่ทุกคนเป็นเจ้าของได้ สร้างความสุขในชุมชน และสร้างสังคมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้ทบทวนและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2570 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ (พ.ศ. 2566 -2570) รวมถึงแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานแบ่งตามตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ปี 2566 เร่งรัดการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเพิ่มบทบาทบริษัทในเครือ (Speed & Strengthening) โดยเร่งรัดการพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบเช่าพร้อมอาชีพผ่านการร่วมลงทุนกับบริษัทในเครือ หรือบริษัทเอกชน รวมทั้งขยายบทบาทของ บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) และบริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO)

ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการเคหะแห่งชาติให้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งขยายผลการขอคืนอาคารเช่าเหมาจากเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพโครงการอาคารเช่าเดิมและอาคารเช่าใหม่ ตลอดจนขยายผลการยกระดับชุมชนที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติให้เป็นต้นแบบของโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่
อย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) และมุ่งเน้นการจัดประโยชน์ทรัพย์สินแปลงใหญ่ให้สร้างมูลค่าเพิ่ม


ระยะกลาง ปี 2567-2568 แสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Synergy & Supply Chain) ด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในธุรกิจใหม่ รวมถึงเสริมสร้างอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าอาคารเช่า ตลอดจนขยายผลชุมชนต้นแบบ SSC ให้มากขึ้น
ระยะยาว ปี 2569-2570 เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Organization) โดยประชาชนมีที่อยู่อาศัย อาชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ บริษัทในเครือและพันธมิตรสร้างความแข็งแกร่งให้กับการเคหะแห่งชาติ ยกระดับการบริหารอาคารเช่าโดยใช้ Big Data เทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี และขยายเครือข่ายพันธมิตรกลุ่มธุรกิจแบบครบวงจร
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้ถ่ายทอดยุทธศาสตร์ฯ ที่ประกอบด้วย 6 วัตถุประสงค์
เชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 2. การยกระดับชุมชนให้เข้มแข็งภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG 3. การฟื้นฟูชุมชนเมือง พัฒนาเมือง สู่การเป็น Smart City 4. การบริหารสินทรัพย์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม 5. การสร้างความเชื่อมั่นและสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 6. การเพิ่มขีดความสามารถองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการการเคหะแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 (โครงการเชิงยุทธศาสตร์) จำนวน 31 โครงการ
“จากนี้การดำเนินงานจะต้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เห็นได้ว่าแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ ปี 2566 มุ่งเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเพิ่มบทบาทให้กับบริษัทในเครือ ส่วนปี 2567-2568 เน้นแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความยั่งยืน และในปี 2569-2570 การเคหะแห่งชาติจะก้าวสู่การเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงาน ปี 2565 การเคหะแห่งชาติ สามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการได้ 97.12% สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มเป้าหมาย 6,673 หน่วย ซึ่งดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดจากความร่วมมือของผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้รับคะแนนผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม เพิ่มสูงขึ้น 0.03 คะแนน จากปี 2564 ที่ได้ 97.93 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอันดับที่ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมินจำนวน 51 แห่ง รวมทั้งมีผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ และอีกความสำเร็จหนึ่ง คือ การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อให้กับลูกค้า ภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (คบส.) ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้รับวงเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 966 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อตั้งแต่ปี 2563-2565 ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้มากกว่า 1,490 ราย

นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการการเคหะแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนด 6 โครงการสำคัญที่จะเร่งขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย 1. โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ที่อยู่อาศัยประเภทเช่าพร้อมอาชีพ ในระดับราคาที่รับภาระได้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง พัฒนาด้วยแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มีเป้าหมายสร้างบ้านเช่า 100,000 หลังใน 5 ปี (พ.ศ.2565-2569) สามารถสร้างอาชีพ มีรายได้จากการสร้างงานในพื้นที่ให้กับผู้อยู่อาศัยได้ 500,000 คน 2. โครงการที่อยู่อาศัยตามแนวโครงข่ายคมนาคม TOD พื้นที่ร่มเกล้า ช่วยกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการ และนักศึกษาจบใหม่ให้มีที่อยู่อาศัยได้มาตรฐานในราคาที่รับภาระได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการฯ ปี 2565-2566 3. โครงการบ้านเคหะสุขเกษม ที่อยู่อาศัยประเภทเช่าแบบครบวงจรสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณ ตั้งเป้า 4,089 หน่วย (พ.ศ.2565-2571) โดยปี 2564 คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการต้นแบบแล้ว 45 หน่วย และปี 2566 มีแผนดำเนินงานจำนวน 180 หน่วย 4. โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร Wellness Center เพื่อกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ ข้าราชการเกษียณ จัดให้มีองค์ประกอบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม ตั้งเป้าจัดสร้าง 852 หน่วย นำร่อง 3 พื้นที่ ประกอบด้วย นครราชสีมา (หมูสี) 500 หน่วย เชียงใหม่ (ไนท์ซาฟารี) 352 หน่วย และนครราชสีมา (สูงเนิน) ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ฯ ทั้ง 3 พื้นที่ 5. โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ชุมชนรามอินทรา ชุมชนห้วยขวาง และชุมชนทุ่งสองห้อง เพื่อพัฒนาพื้นที่เมืองให้มีความน่าอยู่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตเมืองอย่างเหมาะสม สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชน
ดินแดง ระยะที่ 1 (แปลง G) ได้ส่งมอบที่อยู่อาศัยให้กับผู้อยู่อาศัยเดิม จำนวน 334 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2-4 สำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม 6,212 ครัวเรือน และกำลังก่อสร้างแปลง A (อาคาร A1) จำนวน 612 หน่วย ส่วนระยะ 3-4 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 ครัวเรือน ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย 60,874 คน ส่วนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา ชุมชนห้วยขวาง และชุมชนทุ่งสองห้อง การเคหะแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย โดยปีงบประมาณ 2566ตั้งเป้าหมายเสนอแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองรามอินทราให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณา และอยู่ระหว่างสำรวจกรรมสิทธิ์ของผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนห้วยขวาง และเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง และ 6. โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ (คบส.) เพื่อสร้างโอกาสการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มั่นคง
แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยปี 2566 ตั้งเป้าให้สินเชื่อผู้มีรายได้น้อยเช่าซื้อที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติจำนวน 352 ล้านบาท

“เพื่อให้แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน การเคหะแห่งชาติส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมทั้งการสร้างมุมมอง ทัศนคติ และทักษะต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย