การเคหะแห่งชาติ จัดเสวนาวิชาการ “City and Housing Net Zero Carbon Emissions” ประกาศเป้าหมาย “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” ขับเคลื่อนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

0
551

จากกระแส Net Zero Carbon หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก “การเคหะแห่งชาติ” ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยกลุ่มครัวเรือนเปราะบางและผู้มีรายได้ปานกลาง ได้จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “City and Housing Net Zero Carbon Emissions”

โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอกพล เทพมณี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานเสวนาดังกล่าว พร้อมจัดให้มีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการการจัดการความรู้และนวัตกรรม การเคหะแห่งชาติ และ ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Habitat) มาเป็นผู้บรรยายและให้ความรู้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ

นายเอกพล เทพมณี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้นำองค์ความรู้ นวัตกรรม ต่าง ๆ รวมถึงผนึกกำลังกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายโครงการ ได้แก่ โครงการต้นแบบที่เรียกสั้น ๆ ว่า “SSC” หรือ “โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC)” ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้การพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทร บางโฉลง และอีก 4 ชุมชนเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอีก 7 โครงการ ซึ่งจะทำให้การเคหะแห่งชาติ สามารถก้าวไปสู่ชุมชนที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์” (Net-Zero Carbon Emissions) ในอนาคต

“การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ ให้ทันกับกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเราได้เริ่มต้นเรื่องนี้ได้เร็ว และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และด้วยจำนวนโครงการของการเคหะแห่งชาติ ที่มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสร้างอิมแพ็คได้มหาศาลทั้งคนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ และสังคมในภาพรวม”

ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการการจัดการความรู้และนวัตกรรม การเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หัวใจสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ให้ความสำคัญโดยมีนโยบายนำความรู้ และนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยกำหนดแนวทางในการปฏิบัติ 5 เรื่อง

เริ่มต้นที่ความ สะอาด ชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ต้องมีการรักษาและดูแลความสะอาดโดยเฉพาะขยะมูลฝอย รวมถึงขยะติดเชื้อ ซึ่งต้องมีมาตรการในการดำเนินการจัดการให้ถูกวิธี สดชื่น การสร้างพื้นที่สีเขียว และพันธ์ไม้สีสันสวยงาม สร้างความร่มรื่นให้เกิดขึ้นในชุมชน สิ่งแวดล้อมดี ลดหลั่นกันไป ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ เมือง สู่ชุมชนการเคหะแห่งชาติ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการขยะ การบริหารจัดการน้ำเสีย รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งความสะอาด สดชื่น และสิ่งแวดล้อมที่ดี จะนำไปสู่ความสวยงาม และทำให้เกิดการสร้างสุข ให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนการเคหะแห่งชาติ

“การเคหะแห่งชาติมุ่งดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งแผนต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญต้องมีการบูรณาการกันภายในของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของการบริหารจัดการ และการนำเอาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงต้องมีการสื่อสารให้กับคนรอบข้าง ทั้งชาวบ้าน ประชาชนที่อยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ สุดท้ายคือต้องอาศัยความร่วมมือกันของผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติ และผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุกคน ไม่ว่าจะพัฒนาอะไรให้คำนึงถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ”

ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Habitat) กล่าวว่า Net Zero Carbon เป็นเทรนด์ของโลก สำหรับประเทศไทยปัญหาที่พบคือ ไม่ได้มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ “เมือง” แต่มุ่งไปที่ “ชนบท” การดูแลป่าไม้ ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริง เมือง และที่อยู่อาศัยในเมือง มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงเกือบ 60% จากพลังงานทั่วโลก แม้จะคิดเป็นพื้นที่เพียง 2% ของพื้นที่โลก

“การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรื่องที่อยู่อาศัย ดังนั้น ถ้าการเคหะแห่งชาติสามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่องนี้ได้ ก็จะสร้างแรงจูงใจและส่งผลต่อหน่วยงานอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เป้าหมายนอกจากช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนแล้ว การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังสะท้อนถึงความเท่าเทียมในการหยิบยื่นคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย”